หน้าแรก Article ปี 62 ยุคทอง “กัญชา”ความก้าวหน้าเชิงนโยบาย ที่มาไกลเกินฝัน

ปี 62 ยุคทอง “กัญชา”ความก้าวหน้าเชิงนโยบาย ที่มาไกลเกินฝัน

0
ปี 62 ยุคทอง “กัญชา”ความก้าวหน้าเชิงนโยบาย ที่มาไกลเกินฝัน
Sharing

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “กัญชา” เป็นชื่อของพืชที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในรอบปี 2562 นับตั้งแต่ถูกใช้หาเสียงโดยพรรคภูมิใจไทย จากวันนั้น จนถึงวันนี้ นโยบายดังกล่าวมีความคืบหน้าตามลำดับ ที่สำคัญ ภาครัฐของไทยสามารถสกัดสารสำคัญมารักษาผู้ป่วยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมเปิดคลีนิคใกล้ครบทุกจังหวัด และแม้จะมีบางภาคส่วนยังไม่พอใจกับความคืบหน้า แต่หากย้อนมองในรอบปี ต้องนับว่านโยบายกัญชาของประเทศไทยมาไกลกว่าที่ใครคาดคิด

นายเดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ ผู้เชี่ยวชาญการใช้กัญชาทางการแพทย์ กล่าวว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ติดตามนโยบายนี้อย่างใกล้ชิด โดยรวมถือว่าน่าพอใจ แนวทางถูกต้อง แต่ยังมีบางเรื่องที่ติดขัดอยู่บ้าง

“อย่างไรก็ตาม การเดินหน้าของประเทศมาได้ไกลมากแล้ว แซงหน้าหลายชาติ อยากให้คิดว่าเราสนใจเรื่องการใช้กัญชาเพื่อรักษาคนก็ตอนต้นปี และมาเอาจริงเอาจังกันหลังเลือกตั้ง นี่ยังไม่ทันจะครบปี ทำได้เท่านี้ก็มาไกลเกินคาด ทั้งที่เริ่มต้นทีหลัง แต่ไม่ใช่ว่าพอใจแล้วหยุด เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องช่วยกันผลักดัน แม้จะผ่านรุ่นเราไปแล้ว ก็ต้องเดินหน้าต่อ”

ย้อนกลับไปเดือนสิงหาคม 2562 กัญชาที่เคยเป็นยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง ถูกคลายล็อกให้ใช้เพื่อการแพทย์ วันที่ 30 สิงหาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ 2 ฉบับเกี่ยวกับกัญชาและกัญชงคือ โดยเฉพาะประกาศฉบับแรกว่าด้วยเรื่องกัญชาตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)

เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 มีสาระสำคัญคือ กำหนดเพิ่มเงื่อนไขสำหรับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ลำดับที่ 1 คือ กัญชา และลำดับที่ 5 คือ กัญชง โดยมีเงื่อนไขการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ของกัญชา เฉพาะส่วนที่เป็นสารสกัดนำมามใช้ทางการแพทย์เท่านั้น

การเปิดช่องดังกล่าว เป็นโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถปลูกและสกัดกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาคนไข้ ระหว่างนั้นมีสถาบันการศึกษา และสถาบันการแพทย์จำนวนมากขอออนุญาตปลูกกัญชา เพื่อนำมาสกัดเป็นยา ภายใต้การตรวจสอบจากทางภาครัฐ

จากนั้น วันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในร่างกฎกระทรวง ให้ “เกษตรกร” สามารถปลูกกัญชาได้ โดยผ่านการให้อนุญาตจาก อย. ปัจจุบันนี้ ร่างดังกล่าว อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนจะส่งต่อไปยังการพิจารณาของ ครม.ต่อไป

ขณะที่ในสภาผู้แทนราษฎร “พรรคภูมิใจไทย” ได้ยื่น 2 ร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณา เพื่อผลักดันนโยบาย 6 ต้น ได้แก่มีร่าง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ … พ.ศ. … และ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันยาเสพติดแห่งประเทศไทย พ.ศ. ..

สาระสำคัญ เพื่อเล่นล้อกับ “อนุสัญญายาเดี่ยวว่าด้วยเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961” ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิก โดยอนุสัญญาดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อเปิดทางให้ใช้กัญชาในฐานะของพืชสมุนไพร แต่ต้องป้องกันมิให้รั่วไหลไปในตลาดมืด จำต้องมีหน่วยงานคอยควบคุม และรายงานประเทศภาคี

ร่างกฎหมายที่อยู่ในสภา เป็นการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลการผลิตกัญชาทางการแพทย์ เพื่อรายงานแก่สมาชิก ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขนานาชาติ เป็นการใช้ช่องว่างของกฎกรอบ ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

ร่างกฎหมายดังกล่าวสอดรับกับร่างกฎหมายภาคประชาชน

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นายบัณฑูร นิยมาภา หรือลุงตู้ ผู้จุดกระแสการใช้กัญชาเป็นยารักษาโรคและนำมาใช้บริการสุขภาพ ได้เข้ายื่นหนังสือเสนอร่างพระราชบัญญัติพืชเสพติดให้คุณทางการแพทย์ พ.ศ… ต่อประธานรัฐสภา โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุรองประธานรัฐสภาคนที่2 เป็นผู้รับ

ขณะที่เครือข่ายวิชาการและภาคประชาสังคมด้านพืชยากัญชากระท่อม นำโดยเภสัชกรหญิงนิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา หรือ กพย. และคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ายื่นเรื่องถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขาธิการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือเพื่อเตรียมรณรงค์เข้าชื่อประชาชน 1 หมื่นคน เสนอร่างพระราชบัญญัติพืชยากัญชากระท่อมฉบับประชาชน

มีสาระสำคัญคือการเปลี่ยนสถานะของกัญชาและกระท่อมออกจากยาเสพติดประเภท 5 มาเป็นพืชยาเพื่อใช้ทางการแพทย์อย่างปลอดภัยและวางระบบควบคุมกันเองในชุมชนให้สอดคล้องกับวิถีการแพทย์พื้นบ้าน จึงเสนอตั้งสถาบันพืชยากัญชากระท่อมขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในกำกับของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจจัดทำนโยบายศึกษาผลกระทบกับพืชยา

ล่าสุด มีความคืบหน้า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานในที่ประชุม ได้เห็นชอบโดยไม่มีผู้ใดคัดค้านการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษา การใช้ และแนวทางแก้ปัญหา รวมถึงตรวจสอบผลกระทบการใช้กัญชา กัญชง อย่างเป็นระบบ

เหล่านี้เป็นความคืบหน้าของนโยบายกัญชาที่อยู่ในรูปของกฎหมายที่รอการพิจารณา และประกาศใช้ไปแล้วบางส่วน ซึ่งเกิดขึ้นในรอบปี 2562

ปี 2562 เป็นปีที่ “กัญชา” ปรากฏความคึกคักอย่างเป็นรูปธรรม

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่