จัดมวยรุ่นเล็กอย่างนายพชร นริพทะพันธุ์ สมาชิกกลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นบุตรชายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ มาสอยคางคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ สะท้อนภาพความแตกแยกในก๊วนพรรคเพื่อไทย ถึงจุดวิกฤติ ถึงขั้นดันรุ่นลูก มาสอย เป้าใหญ่
“หยามหน้า” กันชัดๆ
สืบสาวราวเรื่อง ต้องย้อนกลับไปที่คุณหญิงสุดารัตน์ ออกมาระบุว่า “พรรคเพื่อไทยเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และกำลังหาทางปฏิรูปพรรค เพื่อไม่ให้ชื่อว่าเป็นปัญหาต่อการปรองดอง”
นับเป็นการให้สัมภาษณ์ที่นานพอตัว แต่เมื่อ 2 วันก่อน ปรากฏว่า
นายพชร นริพทะพันธุ์ ออกมาให้ข่าว “ผมไม่เห็นด้วยกับคำให้สัมภาษณ์ของคุณหญิงสุดารัตน์ ก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า พรรคเพื่อไทยติดหล่ม และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาวิกฤติปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยถูกวางตะปูเรือใบหรือถูกปล้นมากกว่า เช่นเดียวกัน พรรคก็ไม่ได้มีปัญหา หรือเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เราถูกขโมยขึ้นบ้าน ถูกเอาเปรียบหลายครั้ง เชื่อว่า บุคลากรภายในพรรคสามารถแก้ไข หรือเปลี่ยนยางที่ชำรุดได้ แต่ต้องใช้แรง กำลัง และฝีมือ โดยเฉพาะบุคลากรต้องรับฟังความเห็นซึ่งกัน และกัน”
พรรคเพื่อไทย ระอุทันที ด้วยอย่าลืมว่าคุณหญิงหน่อย เป็นหนึ่งในแคนดิเดทหัวหน้าพรรค ที่ฝันถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่ยาก มีวงวารในความดูแลอยู่ไม่น้อย แน่นอนว่า ส.ส.กลุ่มกรุงเทพ(ไม่นับรวมสายฝั่งธนในการกำกับของสารวัตรเฉลิม)นั่งไม่ติดต้องออกมาตอบโต้
เริ่มจากนายสุรชาติ เทียนทอง กลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ภายในพรรค ระบุว่า คุณหญิงเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสม ที่จะนำพรรค เนื่องจากเคยมีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น โครงการหมู่บ้านศีล 5 มีเป้าหมายในการสร้างอาชีพเพื่อให้เกษตรกรหายจากความยากจน
สอดคล้องกับความเห็นของนายไชยา พรหมา อดีต ส.ส.หนองบัวลำภู ที่ออกมาหนุนคุณหญิงสุดารัตน์ โดยยกโครงการ 30 บาท มาเป็นผลงาน
และเสียงที่ต้องรับฟัง คือ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีมีผู้วิจารณ์การบริหารงานในพรรคเพื่อไทยนั้น ใครอาสาเข้ามาทำงานการเมืองในช่วงที่ภาวะไม่ปกติ ถือว่าเป็นผู้เสียสละ และหนึ่งในนั้น คือ
“คุณหญิงสุดารัตน์”
ชัดเจนว่าแนวร่วมเพียบ บารมีในพรรคไม่ธรรมดา แต่อย่าลืมว่าแนวต้าน มีไม่น้อย เพราะแว่วว่า ส.ส.สายเหนือ และสายอีสาน ล้วนไม่ปลื้มหญิงหน่อย ด้วยท่าทีโอนอ่อน กับฝ่ายอำนาจนอกระบบจนเกินไป ไม่ถูกใจสายฮาร์ดคอร์ “เสื้อแดง” แม้จะมีจุดเด่นตรงชื่อชั้นเป็นมือประสาน 10 ทิศ รู้จักคนในคนนอก คอนเน็กชั่นเพียบ แต่ก็มีคำถามว่า ไว้ใจคนแปลกหน้าได้แค่ไหน เพราะพรรคเพื่อไทยเองก็เจ็บมาเยอะกับความพยายามปรองดอง สู้ดี เลือกผู้นำ มาฟื้นเพื่อไทย ให้เดินด้วยลำแข้งจะเหมาะสมกว่าหรือไม่
ที่สำคัญ แคนดิเดท นายกฯ พรรคเพื่อไทย อีกราย ไม่ธรรมดา เพราะชื่อสมชาย วงสวัสดิ์ เบื้องหน้า เบื้องหลัง ใครหนุน คอการเมืองรู้ดี
เหล่านี้ เป็นด่านมะขามเตี้ยภายในพรรคเพื่อไทย ที่คุณหญิงสุดารัตน์ต้องฝ่าไปให้ได้ ไม่นับที่ทำพลาดเอง ขึ้นป้ายหาเสียงท้าทายสถานการณ์สุดอ่อนไหว ที่เป็นข่าวใหญ่ช่วงปลายปี
ทั้งนี้ ความขัดแย้งที่ระเบิดขึ้นมาในพรรคเพื่อไทย คือภาพสะท้อนของจุดเริ่มต้นของพรรคเพื่อไทย ในชื่อไทยรักไทยเดิม ที่เกิดจากการรวม (บางคนใช้คำว่า “ดูด”) ส.ส.หลายกลุ่มไว้ด้วยกัน
ที่พรรคประชาธิปัตย์มักโจมตีเสมอว่าเป็นพรรคธุรกิจครอบครัว “ชินวัตร”
หากไล่ตามเวลาในช่วงปี 2542 – 2543 จะพบว่ามีนักการเมือง/กลุ่มการเมือง ที่ย้ายเข้าสู่พรรคไทยรักไทยเป็นจำนวนมาก จนทำให้พรรคไทยรักไทยกลายสภาพเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ในเวลาเพียงครึ่งปี พรรคไทยรักไทยมี ส.ส.แชมป์เก่าอยู่แล้วประมาณ 130 คน
ซึ่งสามารถแบ่งเป็นกลุ่มการเมืองได้ ดังนี้คือ กลุ่มพลังธรรม – พลังไทย /กลุ่มวังน้ำเย็น /กลุ่มพรรคความหวังใหม่ /กลุ่มพรรคชาติพัฒนา /กลุ่มพรรคชาติไทย /กลุ่มพรรคกิจสังคม /กลุ่มพรรคประชาธิปัตย์ ที่แต่ละกลุ่มก็ขยายบารมี อยู่ในพรรค ข่มกันไปมา
จะเห็นว่าพรรคไทยรักไทย ที่วันนี้คือพรรคเพื่อไทยนั้น ไร้ความเป็นเอกภาพมาตั้งแต่ต้น
แน่นอนว่า ระหว่างแต่ละกลุ่มย่อมมีเรื่องเขม่นกันมาก่อน ซึ่งก็เป็นปัญหาที่พรรคประสบมาตลอด บางครั้งเป็นเหตุทำให้นักการเมืองหายหน้าหายตาไปเฉยๆ อาทิ กลุ่มของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ที่ปัจจุบันนี้ ไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไรบ้าง ไปจนถึงย้ายพรรคกลายเป็นขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้าม ที่ต้องมาชิงชัยกันในสนามเลือกตั้ง ก็ยังมี
ยิ่งมาเกิดขึ้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยิ่งไม่ควรชะล่าใจ เพราะทุกคะแนนเสียงมีค่า ต่างกับอดีตที่ใช้ระบบ Winner takes all ด้วยระบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่เบอร์ 2 3 4 ยังมีลุ้นเป็นพลังปั้นผู้แทนได้ต่อ
พรรคเพื่อไทยคงไม่อยากเห็นอดีตเด็กในสังกัด ไหลออกด้วยความน้อยใจ ไปโกยคะแนนให้ฝ่ายตรงข้าม
ดังนั้นจึงควรรีบตัดไฟแต่ต้นลม “เคลียร์ใจ” กันโดยด่วน
ขอบคุณภาพจาก มติชน สุดสัปดาห์
Ringsideการเมือง