น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ หรือ “อ้น” รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ และอดีตผู้สมัครส.ส.กทม. เขตจอมทอง-ธนบุรี กล่าวถึงผลงานการทำงานที่พรรคพลังประชารัฐเร่งผลักดันในระดับนโยบายตลอดการทำงานกว่า 5 เดือนของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เน้นย้ำเห็นผลชัดเจนในการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และการจัดสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
“จากการทำงานของพรรคพลังประชารัฐในรัฐบาลกว่า 5 เดือนนั้น มาตรการต่างๆ ได้เร่งออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานราก ให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีความเข้มแข็ง ที่เห็นผลได้อย่างชัดเจนคือมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ของกระทรวงการคลัง ที่มีนายอุตตม สาวนายน เป็นกำลังสำคัญ ที่ผลักดันให้เกิดมาตราการการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถดึงร้านค้ารายย่อยเข้าร่วมโครงการได้กว่า 1.7 แสนร้านค้าทั่วประเทศ และผู้มีลงทะเบียนใช้สิทธิ์ทั้ง 3 เฟสเกือบ 12 ล้านคน มีการใช้จ่ายตั้งแต่ 27 ก.ย. – 17 ธ.ค. รวมเกือบ 25,000 ล้านบาท รายได้สะสมของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเฉลี่ยประมาณ 134,000 บาทต่อร้านค้า ทั้งนี้กรมบัญชีกลางยังได้ขยายระยะเวลารับสมัครร้านค้าออกไปถึงวันที่ 15 ม.ค. 63 โดยร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมมาตรการ สามารถสมัครได้ด้วยตนเอง ณ ห้องโถงชั้น 1 กรมบัญชีกลาง และที่สำนักงานคลังจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลวันหยุดปีใหม่นี้” น.ส.ทิพานัน กล่าว
“นอกจากนี้ยังดำเนินการการจัดสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น อุดหนุนเด็กแรกเกิด 600 บาท ยืดโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐออกไปอีก 1 ปี เพื่อช่วยเหลือสวัสดิการของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และล่าสุดกระทรวงการคลังเตรียมผลักดันโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้เป็นโครงการถาวรเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง โดยจะจัดตั้งสำนักบัตรสวัสดิการแห่งรัฐขึ้นมากำกับดูแลโดยตรง และยังดำเนินการเพื่อให้มีการเปิดลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบใหม่ภายในปลายเดือนมกราคม 2563 ด้วย ซึ่งการดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามแนวนโยบายของพรรคพลังประชารัฐ “ประชาธิปไตยไทยอิ่ม” ที่จะพาประเทศไทยเดินหน้าและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
“ในด้านของกระทรวงพลังงาน โดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่มุ่งเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจฐานรากให้ยั่งยืนเข้มแข็ง มั่นคง โดยมีแผนปฏิรูป 6 ด้าน 17 ประเด็น (http://bit.ly/35X2xlo) เป็นแนวทางการปฎิรูปกระทรวงพลังงาน และมีนโยบายช่วยส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้พึ่งพาตนเองได้ โดยเริ่มโครงการ “โรงไฟฟ้าชุมชน” เพื่อเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ชุมชนได้ประโยชน์โดยตรงคือ โรงไฟฟ้าต้องดูแลชุมชนรอบพื้นที่ รับซื้อวัตถุดิบทางการเกษตรจากชุมชนเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้า ดังนั้นชุมชนมีส่วนถือหุ้นในโรงไฟฟ้า ได้รับส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้า 25 สตางค์ต่อหน่วย มีรายได้จากการขายพืชพลังงานและให้เช่าที่ดินปลูกพืชพลังงาน อีกทั้งยังเกิดการจ้างงานเพิ่มในชุมชนอีกด้วย และยังมีโครงการต่อเนื่องของปีถัดไปคือ บี10 น้ำมันบนดินเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โดยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 จะประกาศ บี10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน เป็นการแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันทั้งระบบ เกิดสมดุลยภาพทั้งอุปสงค์และอุปทาน จะมีการใช้ปาล์มน้ำมันมาใช้ผลิตไบโอดีเซลเพิ่มมากขึ้น ปาล์มน้ำมันทั้งระบบจะ มีเสถียรภาพราคามั่นคง”
“สำหรับมาตรการการช่วยเหลือพ่อแม่พี่น้องเกษตรกรนั้น รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่ดินให้กับเกษตรกรให้กับผู้ยากไร้ผ่านวิธีการปฏิรูปที่ดินด้วยโครงการคืนโฉนดเพื่อให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และยังช่วยเหลือมอบสินเชื่อเงินกู้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแก่เกษตรกร มีนโยบายดูแลและส่งเสริมการประกอบอาชีพอย่างครบวงจรเพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้พัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพของเกษตรกร มีการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยแลนวัตกรรม ยังร่วมพัฒนาแอปพลิเคชั่น Chaokaset (ชาวเกษตร) สำหรับเกษตรกรไทยให้ดาวน์โหลดฟรีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทยในการวางแผนเพาะปลูกอีกด้วย”
“ในส่วนของกระทรวงศึกษาก็ได้ดำเนินการเต็มที่ในการพัฒนาวางรากฐานการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีวะ ในสายอาชีวะได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยโดยขอความร่วมมือครูสอนภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษา (Native Speakers) มาช่วยสอนภาษาอังกฤษโดยได้นำหลักสูตร BTEC ของ Pearson มาปรับใช้ในประเทศไทยเพื่อรองรับแผนการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและทำความร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) โดยจัดส่งครูอาสาสมัครญี่ปุ่นให้สถานศึกษาของไทย และโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น (KOSEN) เป็นต้น”
“นอกจากนี้กระทรวงศึกษาได้ดำเนินการพัฒนาความรู้ความสามารถของครูผู้สอน โดยประสานความร่วมมือกับนานาประเทศ เช่น ฟินแลนด์ แคนาดา อังกฤษ เพื่อนำหลักสูตรที่ทันสมัยมาฝึกอบรมภาษาอังกฤษให้ครูชาวไทยทั้งทักษะภาษาและวิธีการสอนเพื่อพัฒนาเป็นครูแกนนำ (Thai Master Trainer) และยังให้ความสำคัญกับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของสถานศึกษาทั่วประเทศเพื่อช่วยให้ครูและนักเรียนสามารถฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษได้ด้วยตนเอง ซึ่งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยยูเนสโกจะสามารถพัฒนาการศึกษาไทยให้สู่แนวหน้าของสากลได้ โดยใช้นโยบายปรับหลักสูตร พัฒนาคุณครู เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน โดยผสมผสานข้อเด่นของประเทศผู้นำทางการศึกษา เช่น อังกฤษ อเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ มาพัฒนาการศึกษาของไทยให้เด็กไทยพัฒนาให้เต็มศักยภาพ เต็มความสามารถ เต็มพรสวรรค์ของเด็กแต่ละคน”
“ทุกภาคส่วนของพรรคพลังประชารัฐทำงานเต็มที่เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ทั้งในเชิงนโยบายและแก้ปัญหาชาวบ้านโดยผ่านการทำงานในสภาฯ โดยมีนายวิรัช รัตนเศรษฐ เป็นวิปรัฐบาล ที่ทำงานประสานทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านให้ดำเนินด้วยดี พร้อมกับดำเนินการการประสานให้ ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ ได้สะท้อนปัญหาต่างๆ ของพี่น้องประชาชนจากการลงพื้นที่ทำงานมาอภิปรายหารือในสภา โดยจากสถิติที่ผ่านมา ส.ส. จำนวนกว่า 79 ท่านได้นำเสนอข้อร้องเรียนทั้งสิ้นกว่า 260 เรื่อง โดยสะท้อนปัญหาและหาแนวทางแก้ไขเพื่อประโยชน์ของพ่อแม่พี่น้อง 77 จังหวัดและ กทม. ซึ่งจะเห็นได้ว่าการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคพลังประชารัฐนั้นทำเต็มที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน” รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐกล่าวทิ้งท้าย