นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว Srisutthiyakorn Somchai ถึงภาพรวมของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พรป.ส.ว. จะผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตาม ม.148 ของรัฐธรรมนูญ มี 2 ช่องทางที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ กรณีที่เห็นว่าร่างกฏหมายดังกล่าวมีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ คือ ช่องทางที่หนึ่ง สนช. 25 คนร่วมชื่อ ประธาน สนช. ช่องทางที่สอง นายกรัฐมนตรี เห็นควรให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย แต่ในขณะนี้เริ่มมีข่าวว่า ประธาน กรธ. จะมีหนังสือขอให้มีการยื่นตีความไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยชี้แจงว่า จะไม่กระทบต่อโรดแมปเลือกตั้ง
นายสมชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า กรณีที่ไม่มีการยื่นศาล ต้องใช้เวลาเต็มที่ 330 วันหลังจากนายกฯทูลเกล้า คือรอโปรดเกล้าฯ 90 วัน ชะลอการใช้บังคับ 90 วัน เวลาเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ 150 วัน ดังนั้นหากนายกฯ สามารถทูลเกล้าฯ ได้ในเดือนมีนาคม 2560 นับไป 11 เดือน คือ 90+90+150= 330 ก็คือการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศ แต่หากมีการยื่นศาล ต้องทดเวลาเพิ่มอีก 2 เดือน เผื่อการวินิจฉัยของศาลไว้ประมาณ 45 วัน และการนำกลับมาแก้ไขหลังศาลวินิจฉัย การนับเวลาใหม่จึงเป็น 13 เดือน แปลว่า วันเลือกตั้งจะเคลื่อนจากโรดแมปไปอีก 2 เดือน
อย่างไรก็ตาม ในวรรคสามของ มาตรา 148 เขียนว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อความที่ขัดหรือแย้งนั้นเป็น “สาระสำคัญ” ของกฎหมาย “ให้ร่างพระราชบัญญัตินั้นตกไป” ดังนั้น ประเด็นที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ ทักท้วงเกี่ยวกับ พรป.ส.ว.นั้น ต้องบอกว่าเป็นสาระสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว. หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าผิดหรือขัดในสาระสำคัญ คงต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยืดไปอีกออกอย่างน้อย 6 เดือน อีกทั้ง รัฐธรรมนูญกำหนดให้เลือก ส.ว.ให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง ส.ส. 15 วัน ดังนั้นหากไม่มี ส.ว.ก็จะไม่มี ส.ส.เช่นกัน หมากนี้จึงลึกซึ้งยิ่งนัก ขึ้นอยู่กับใครจะเป็นจำเลยให้สังคม ระหว่าง 25 สนช. หรือ นายกรัฐมนตรี ถ้าโรดแมปต้องเลื่อนไปอีก 2-6 เดือน