ต้องพูดความจริง !
“มันอาจจะดูช้า แต่การเดินหน้าเรื่องกัญชาของประเทศมาได้ไกลมากแล้ว แซงหน้าหลายชาติ
อยากให้คิดว่าเราสนใจเรื่องการใช้กัญชาเพื่อรักษาก็ตอนต้นปี และมาเอาจริงเอาจังกันหลังเลือกตั้ง นี่ยังไม่ทันจะครบปี ทำได้เท่านี้ก็มาไกลเกินคาด ทั้งที่เริ่มต้นทีหลัง”
นายเดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ ผู้เชี่ยวชาญการใช้กัญชาทางการแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าของนโยบายกัญชาการแพทย์ เมื่อช่วงปลายปี 2562
เป็นทิศทางความเห็นที่สอดคล้องกับนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.ที่ติดตามพัฒนาการของนโยบายกัญชาอย่างใกล้ชิด
“ถ้าต้องให้คะแนน ก็สอบผ่านฉลุย ได้ 7 เต็ม 10 เพราะทางรัฐมนตรีมีความพยายามทำตามที่หาเสียงไว้ และเห็นความคืบหน้าต่อเนื่อง บางเรื่องอาจล่าช้า แต่เข้าใจว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรี”
เป็นเสียงชมเชยที่มีต่อนโยบายกัญชาทางการแพทย์ และเป็นการพูดความจริงว่านโยบายนี้ “ไม่หมู” การที่เดินมาถึงจุดที่มีคลินิกกัญชาเปิดตามโรงพยาบายต่างๆ ทั่วประเทศไทย การที่องค์การเภสัชกรรม นำสูตรยาพื้นบ้านไปสกัด และกลับมาใช้งานจริง
ก็นับว่าเป็นรูปธรรมความสำเร็จ
ชัดเจนว่าภาครัฐทราบปัญหาของนโยบายนี้ และพยายามแก้ไขทีละเปราะ ประเด็นแรกคือเรื่องกฎหมาย ซึ่งตีตราให้กัญชาเป็นยาเสพติดมา 40 – 50 ปีนั้น มีผลกระทบต่อทัศนคติของสังคม รวมไปถึงบุคลากรการแพทย์แผนปัจจุบันบางคน
การจะทำให้เปิดใจยอมรับกันด้วยเวลาเพียงไม่กี่เดือน ย่อมเป็นไปไม่ได้
กระนั้น เพื่อผลักดันนโยบาย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงค่อยๆ จัดการกับกฎกรอบ ในส่วนที่สามารถทำได้ ทั้งการออกกฎกระทรวงปลดล็อกสาร THC และ CBD ภายใต้ปริมาณที่กำหนด
ให้ “หมอพื้นบ้าน” มาจดทะเบียนกับภาครัฐ เป็นการยอมรับองค์ความรู้ท้องถิ่น ทั้งยังพร้อมให้ อก.ผลิตสารสกัดกัญชาสูตรพื้นบ้าน กรณีตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัย โดยสารสกัดทั้งหมด ได้ถูกส่งไปยังคลินิกกัญชาทั่วประเทศ
หากสรุปผลความคืบหน้าของกัญชาทางการแพทย์ในปี 2562 ในส่วนของคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน มีการเปิดแล้วทั้งสิ้น 11 แห่งทั่วประเทศ มีทั้งระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน
มีแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และแพทย์แผนไทย ผ่านการอบรมในการใช้กัญชาทางการแพทย์แล้ว 6,400 คน จากการติดตามคุณภาพชีวิตผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดกัญชาพบว่า ร้อยละ 84 มีอาการดีขึ้น
นอกจากนั้น ยังมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย ทั้งหมด 25 แห่งทั่วประเทศ เป็นคลินิกกัญชาแผนไทย ที่โรงพยาบาลชุมชน 13 แห่ง คลินิกกัญชาการแพทย์ผสมผสานประจำโรงพยาบาลศูนย์ 12 แห่ง
ในปี 2562 มีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน ได้รับยาแผนไทยที่มีกัญชาปรุงผสมแล้ว 86 แห่ง
กระทั่งมาเปิดคลินิกกัญชาแผนไทยที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นข่าวตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ระหว่างนี้ภาครัฐพยายามประสานการทำงานระหว่างหมอแผนไทยและหมอแผนปัจจุบันเข้าด้วยกัน เพราะหมอแผนไทยมีทัศนคติต่อกัญชาเป็นบวกกว่าหมอแผนปัจจุบัน การได้ทำงานร่วมกัน น่าจะช่วยลดความกังวลให้กับหมอแผนปัจจุบันได้ นอกจากนั้น ได้รวบรวมข้อมูลการรักษาเพื่อใช้สนับสนุนในขั้นตอนการออกกฎหมายในอนาคต
นโยบายนี้ มีความคืบหน้าเด่นชัด
แต่ “บางฝ่าย” ยังไม่พอใจ โดยหลงลืม “ความจริง” ไปว่านโยบายข้างต้น มีอุปสรรคอะไรบ้าง
เพราะกำแพงของเรื่องนี้ มิใช่เพียงกฎหมายที่ปิดกั้น ทัศนคติที่เป็นลบ แต่ยังมี “กลุ่มทุน” อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเกรงว่าจะเสียประโยชน์จากนโยบายกัญชา และกลุ่มทุนนี้ ถูกสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการขัดขวางโยบายกัญชาทั้งหมด
ทั้งนี้ นโยบายที่กำลังเดินหน้ากันอยู่ ยากถึงขั้นที่นายเดชา ศิริภัทร ออกมายอมรับว่า
“มันต้องสู้ต่อถึงรุ่นต่อๆไป”
นายอนุทิน ย้ำอยู่เสมอว่า
“นโยบายกัญชาทางการแพทย์จะเดินต่อไปได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชนเป็นสำคัญ หากประชาชนเห็นด้วย ช่วยกันผลักดัน นโยบายย่อมไปต่อได้เร็วขึ้น”
แต่ถ้าสังคมยังมองข้าม “ความจริง” เรื่อง “อุปสรรค” ของการทำนโยบาย กระทั่งบางคนถึงขั้นด่าทอ “คนทำงาน” ก็ยิ่งทำให้นโยบายเดินหน้าลำบากยากเข็ญ
เพราะเท่ากับไร้แรงหนุนเสียแล้ว
ทั้งนี้ เมื่อเราเข้าใจ “ความจริง” ก็ถึงเวลาต้องย้อนทบทวน
หากต้องการให้ “กัญชา” กลายเป็น “ยา” สำหรับทุกครัวเรือน ได้เวลาแล้วที่ “สายกัญ” ต้องร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันผลักดันนโยบายไปข้างหน้า เข้าใจเรื่องแรงต้านที่มีอยู่จริง
และให้ “กำลังใจ” คนทำงาน
ให้กำลังใจ “กัญและกัญ”
Ringsideการเมือง