หน้าแรก Article ม็อบ-มวลชน-พรรคการเมือง ห้วงรัก เหวลึก วิกฤติประเทศไทย ฤาประชาชนแค่เบี้ยในกระดานอำนาจ

ม็อบ-มวลชน-พรรคการเมือง ห้วงรัก เหวลึก วิกฤติประเทศไทย ฤาประชาชนแค่เบี้ยในกระดานอำนาจ

0
ม็อบ-มวลชน-พรรคการเมือง ห้วงรัก เหวลึก วิกฤติประเทศไทย ฤาประชาชนแค่เบี้ยในกระดานอำนาจ
Sharing

ท่ามกลางวิกฤติการเมืองในอดีตที่ผ่านมา การชุมนุมของกลุ่มต่างๆที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งผูกพันกับนักการเมืองแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มพันธมิตรประชาชน กลุ่มคนเสื้อแดง รวมถึงกลุ่มกปปส.ที่มีแนวร่วมมาจากพรรคการเมืองทั้งนั้น เพราะหากพรรคการเมืองไม่ร่วมด้วย ไม่มีทางที่จะมีจำนวนคนมหาศาลมาร่วมในม็อบด้วยอย่างแน่นอน

การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ศ. 2551 ที่มีนายสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นแกนนำพันธมิตรประชาชน เป็นการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านพรรคพลังประชาชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 ซึ่งการชุมนุมยังคงมีเป้าหมายที่จะต่อต้านอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ไม่นับรวมกลุ่มพันธมิตรฯ ได้เข้าปิดล้อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อต่อรองกับนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งส่งผลให้เที่ยวบินทุกเที่ยวหยุดทำการ เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสูญเสียรายได้ไปกว่า 350 ล้านบาท นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศยังสูญเสียรายได้กว่า 25,000 ล้านบาท โดยยังไม่รวมความเสียหายของสายการบินต่าง ๆ อีกจำนวนมาก

ผู้ที่เข้ามาร่วมชุมนุมในครั้งนั้น มีแกนนำพรรคประชาธิปัตย์อยู่เบื้องหลัง มีการเกณฑ์คนมาจากภาคตะวันออกและภาคใต้ จนมีการพูดกันว่าเมืองหลวงของกลุ่มพันธมิตรฯคือ จังหวัดชลบุรีและระยอง มีการขนมวลชนมาเติมม็อบทุกวัน จนกระทั่งมีการรัฐประหารปี 49 จึงยุติม็อบพันธมิตร

หลังจากนั้นไม่นานก็มีการเกิดขึ้นมาของ กลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีแกนนำหลักคือ นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ทีมีการจัดเตรียมกำลังพลมาจากภาคอีสาน หลักๆคือ จังหวัดอุดรธานี โดยการร่วมกับพรรคเพื่อไทยในการขนคนมาเติมม็อบแบบไม่หยุด จนส่งผลให้มีจำนวนคนเป็นจำนวนมาก ม็อบคนเสื้อแดงมีการเคลื่อนไหวจากพื้นที่หนึ่งไปอีกพื้นที่หนึ่ง ก่อนที่สุดท้ายจะมาจบที่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของคนกรุงเทพ ทำเอาถนนเส้นนั้นเป็นอัมพาต การชุมนุมของนปช.กินระยะเวลายาวนานจนสุดท้ายมีการสลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตจำนวน 99 คน บาดเจ็บกว่า 2,000 ราย ถือว่ามากสุดจากความขัดแย้งทางการเมือง ก่อนที่แกนนำทั้งหมดมอบตัว และทหารเข้าควบคุมพื้นที่ ม็อบจึงสลายในที่สุด

สุดท้าย ม็อบสำคัญที่มีการจัดการและใช้งบประมาณสูงมาก คือ ม็อบกปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ พระพุทธอิสระ แห่งวัดอ้อน้อย ที่มีการจัดเวทีคู่ขนาน คือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เริ่มจัดเวทีครั้งแรก อ้างว่าต้องการต่อต้านพรบ.นิรโทษกรรม ที่บริเวณริมทางรถไฟสามเสน มีมวลชนมาจากพลพรรคประชาธิปัตย์ ในกทม. จากนั้นก็เริ่มมีการจัดตั้งเวทีคู่ขนาน ทั้งที่แยกอโศก แยกปทุมวัน หน้าศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศชัดเจนว่าใช้งบประมาณในการจัดม็อบไปไม่น้อยกว่า 1,400 ล้านบาท ในขณะที่พระพุทธอิสระ แห่งวัดอ้อน้อย จัดขบวนไปตามพื้นที่ต่างๆเพื่อไปบุกรุกและการข่มขู่หน่วยงานราชการ ทั้งเอกชนและรัฐวิสาหกิจ ทั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การทางพิเศษ กระทรวงการคลัง ยึดศูนย์ราชการ โรงแรมเอสซีปาร์ค หลายรายต้องซื้อสิ่งของที่ม็อบเอามาเท หรือจ่ายเงินไปเพื่อจบปัญหา

นอกจากนี้ ในการขนคนมาเติมม็อบ มีการร่วมมือกันหลายแห่ง ทั้งจากสำนักสันติอโศก จากกทม. จากภาคใต้ และจากภาคตะวันออก ม็อบกปปส.จึงเป็นม็อบที่พัฒนาการมาจากม็อบพันธมิตร ที่ร้องขอให้ทหารออกมายึดอำนาจ จนสุดท้ายกองทัพอ้างว่าจำต้องเข้ามาเพื่อหยุดความวุ่นวายในประเทศ

มีการเจรจากันนอกรอบระหว่างผู้นำกองทัพกับนายสุเทพ ที่ค่ายทหารแห่งหนี่ง ในการดำเนินการเปิดทางให้ทหารเข้ามาเป็นตัวสงบศึก จนเป็นที่มาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงทุกวันนี้

สรุปสุดท้ายคือม็อบจะเล็กหรือใหญ่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ พรรคการเมือง และ งบประมาณในการจัดการ ถึงวันนี้ประชาชนก็ไม่ต่างจากหมากตัวหนึ่งที่นักการเมืองวางตัวไว้เป็นแค่เบี้ยในกระดานอำนาจแค่นั้น บทเรียนสำคัญของประเทศไทย อย่าให้ใครมาใช้ประโยชน์จากเราในการสร้างฐานอำนาจใหม่ขึ้นมา โดยไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่