“พาณิชย์”เผยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ยอด 11 เดือนแรงไม่หยุด มูลค่าทะลุ 14,968.05 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.73% ได้แรงหนุนจากการส่งออกทองคำไปเก็งกำไร แถมพลอยสียังเป็นสินค้าดาวรุ่งพุ่งแรง ช่วยหนุนยอดโต ระบุอาเซียนยังเป็นตลาดเติบโต เพิ่ม 198.09% ตามด้วยอินเดีย เพิ่ม 93.23% แนะปีนี้ เป็นปีแห่งเฉดสีน้ำเงินเข้ม ต้องวางแผนผลิตให้สอดคล้อง เน้นนำเทคโนโลยีมาใช้ และอย่าลืมประกันค่าบาท
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วง 11 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) ยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่า 14,968.05 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.73% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 464,570.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.75% หากหักทองคำ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนออก การส่งออกมีมูลค่า 7,613.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.60% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 236,162.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.31%
ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในช่วง 11 เดือนของปี 2562 เพิ่มขึ้น มาจากการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นถึง 85.35% จากการทำกำไรส่วนต่างของราคา ในช่วงที่ราคาทองคำอยู่ในทิศทางขาขึ้น และยังมีการส่งออกเพิ่มขึ้นในส่วนของพลอยสี ซึ่งยังคงเป็นสินค้าดาวรุ่ง โดยพลอยก้อน พลอยเนื้อแข็งเจียระไน และพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่มขึ้น 295.05% , 7.07% และ 11.29% ตามลำดับ ขณะที่เศษหรือของที่ใช้ ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า เพิ่มขึ้น 397.63% และเครื่องประดับทอง เพิ่ม 0.02% แต่เครื่องประดับแท้ ลด 6.59% เครื่องประดับเงิน ลด 19.06% เครื่องประดับแพลทินัม ลด 2.53% เพชร ลด 8.22% เพชรก้อน ลด 20.53% เพชรเจียระไนลด 7.30%
สำหรับตลาดส่งออก อาเซียนยังคงเป็นตลาดสำคัญ เพิ่มขึ้นมากสุด 198.09% จากการส่งออกไปสิงคโปร์และกัมพูชา เพิ่ม 295% และ 238% รองลงมา คือ อินเดีย เพิ่ม 93.23% จากการส่งออกเพชรเจียระไน พลอยก้อน โลหะเงิน พลอยเนื้ออ่อนและพลอยเนื้อแข็งเจียระไนเพิ่มขึ้น และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เพิ่ม 1.64% จากการส่งออกไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพิ่ม ส่วนฮ่องกง ตลาดอันดับ 1 ยังคงลดลง 4.64% เพราะได้รับผลกระทบจากการประท้วง นักท่องเที่ยวลด ร้านค้าปลีกหลายรายปิดตัวลง และยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามการค้า ที่ผู้นำเข้าฮ่องกงลดการนำเข้าจากไทยลง สหภาพยุโรป ลด 1.61% เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ลด 5.88% จากเศรษฐกิจชะลอตัว ญี่ปุ่น ลด 6.59% จากการปรับขึ้นภาษีบริโภคเป็น 10% จีนลด 23.48% เพราะยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ชาวจีนลดซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ลด 20.72% รัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช ลด 63.75%
นายวีรศักดิ์กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ยังคงเผชิญความท้าทายจากประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน แม้จะบรรลุข้อตกลงการค้าเฟสแรกไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศจะยุติ จึงยังมีความไม่แน่นอนอยู่ และยังมีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับยุโรป ที่อาจมีการตอบโต้กันรุนแรง ขณะที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น รวมถึงการประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อและรุนแรง และยังมีปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่า ที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีปัจจัยลบ แต่กระทรวงพาณิชย์เชื่อว่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยยังมีอากาสเติบโตได้สูง แต่ผู้ประกอบการต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือและบริหารต้นทุนให้เหมาะสม และต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ ติดตามความต้องการของตลาด โดยในปี 2563 เป็นปีแห่งเฉดสีน้ำเงินเข้มหรือ Classic Blue ซึ่งสินค้าของไทยหลายชนิด เช่น ไพลิน ลาพิสลาซูลี แทนซาไนต์ เป็นต้น จะเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และต้องบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วยการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าด้วย