หน้าแรก news เป็นเรื่องของคนแพ้ ! “พิชาย” วิเคราะห์เป็นฉาก หลัง “กรณ์” โบกมือลา ปชป.

เป็นเรื่องของคนแพ้ ! “พิชาย” วิเคราะห์เป็นฉาก หลัง “กรณ์” โบกมือลา ปชป.

0
เป็นเรื่องของคนแพ้ ! “พิชาย” วิเคราะห์เป็นฉาก หลัง “กรณ์” โบกมือลา ปชป.
Sharing

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตคณะบดีพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) โพสตข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Phichai Ratnatilaka Na Bhuket เรื่อง แบบแผนการลาออกจากพรรคการเมืองและการจัดตั้งพรรคใหม่ มีเนื้อหาดังนี้
1. เมื่อเกิดการแย่งชิงตำแหน่งภายในพรรคเกิดขึ้น กลุ่มผู้ชนะจะยึดกุมอำนาจการบริหาร การจัดสรรตำแหน่ง และผลประโยชน์ในพรรค และหากพรรคได้เข้าร่วมรัฐบาล กลุ่มผู้ชนะจะจัดสรรตำแหน่งทางการเมืองให้กับสมาชิกกลุ่มตนเองเป็นหลัก ส่วนกลุ่มผู้แพ้จะไม่ได้รับโอกาสนั้น
2. หากกลุ่มผู้ชนะไม่สามารถรักษากลุ่มที่พ่ายแพ้ในเกมช่วงชิงอำนาจให้คงอยู่ในพรรคได้ เพราะกีดกันและลดบทบาทกลุ่มที่ไม่ใช่พวกตนออกจากวงจรอำนาจของพรรค การลาออกจากพรรคจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และหากพรรคนั้นตกอยู่ในสถานการณ์ตกต่ำทางการเมือง และมีสถานภาพการแข่งขันอ่อนแอ โดยเปลี่ยนสภาพจากพรรคที่เคยเป็นพรรคหลักในเกมอำนาจการเมือง กลายเป็นเพียงพรรคตัวแปรหรือตัวประกอบ รวมทั้งบริบทการเมืองไม่เอื้อต่อการสร้างคะแนนนิยมให้เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต ก็ยิ่งทำให้นักการเมืองในกลุ่มผู้แพ้ของพรรคมีแนวโน้มลาออกมากขึ้น
3. หากกลุ่มผู้แพ้ถูกละเลยและจำกัดบทบาทการเมืองทั้งในและนอกพรรค พวกเขาจะมีความอึดอัดคับข้องใจต่อการปฏิบัติของกลุ่มผู้ชนะมากขึ้น และหากผู้แพ้มีความเชื่อและอุดมการณ์ทางการเมือง แตกต่างจากกลุ่มผู้ชนะที่บริหารพรรค ความรู้สึกแปลกแยกต่อพรรคเดิมก็จะเพิ่มมากขึ้น ความเป็นไปได้ในการตัดสินใจลาออกก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
4. หากกลุ่มผู้แพ้ ยังปรารถนาเล่นการเมืองต่อไป และไม่เห็นโอกาสอื่น ๆ ทางการเมืองนอกพรรคเดิมที่สังกัด หรือไม่มีทางไป พวกเขาจำต้องทนอยู่ในพรรคเดิมต่อไปอย่างขมขื่น
5. หากกลุ่มผู้แพ้มีความคาดหวังว่า ยังมีช่องทางที่พลิกฟื้น และสะสมกำลังเพื่อช่วงชิงตำแหน่งต่อไปในภายหน้า พวกเขาก็มีแนวโน้มอยู่ในพรรคเดิมต่อไป เพื่อรอคอยโอกาสแย่งชิงอำนาจมาเป็นของตนเองในอนาคต
6. หากผู้แพ้ ยังปรารถนาเล่นการเมืองต่อและเห็นโอกาสบางอย่างที่อยู่ภายนอกพรรค แต่ไม่เห็นโอกาสการพลิกฟื้นสถานภาพของตนเองในพรรคเดิม พวกเขาจะตัดสินใจลาออกจากพรรคเดิม
7. ผู้แพ้บางคนเมื่อออกจากพรรคเดิม พวกเขาจะไปสังกัดพรรคใหม่ ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกับตนเอง ที่มอบผลประโยชน์ทางวัตถุและตำแหน่งทางการเมืองในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งให้แก่เขา และที่เปิดโอกาสทำให้เขาแสดงบทบาททางการเมืองได้มากกว่าพรรคเดิม
8. ผู้แพ้บางคน ที่ยังปรารถนาเล่นการเมืองต่อไป และไม่อยากอยู่ภายใต้ชายคาของพรรคอื่น รวมทั้งเห็นว่าสนามการเมืองมีพื้นที่ช่องว่างให้ตนเองช่วงชิงได้ เมื่อเขาออกจากพรรคเดิม เขามีแนวโน้มไปจัดตั้งพรรคใหม่ โดยดึงนักการเมืองที่เป็นพวกเขาจากพรรคเดิมบางส่วน และบุคคลอื่นในเครือข่ายของเขามาร่วมจัดตั้ง
การตั้งพรรคใหม่จะทำให้เขามีบทบาทสูงภายในพรรค ในฐานะผู้ริเริ่มก่อตั้งพรรค
9. พรรคใหม่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาจากนักการเมืองหน้าเดิมและเครือข่ายใหม่ อาจกลายเป็นพรรคที่มีสมรรถนะในการแข่งขันสูง หรือต่ำก็ได้ ขึ้นอยู่กับทรัพยากร วิสัยทัศน์ นโยบาย ยุทธศาสตร์ การทำงานมวลชนของพรรค และความสอดคล้องระหว่างอัตลักษณ์ของพรรคกับบริบททางสังคมการเมืองในขณะนั้น


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่