การเลือกตั้งในปี 2562 ถือเป็นการเลือกตั้งที่ต้องจับตามอง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งเรื่องของพรรคการเมืองที่มีทั้งพรรคใหม่และพรรคการเมืองเก่า ทั้งเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา รวมทั้งนักการเมืองก็มีหน้าใหม่เข้ามาเป็นจำนวนมาก ถือเป็นความสนุกสนานท้าทายมากในการเลือกตั้งปี 2562
ในส่วนของการเลือกตั้ง มีข่าวกระเซ็นกระสายออกมาว่ามีการดีลลับจับมือกันแล้ว โดยการเดินเกมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่ให้นายทหารคนสำคัญที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองหลายพรรคไปเจรจาดีลนี้ นายทหารคนนี้ก็เดินทางไปเจรจากับคนโน้นคนนี้จนดีลนี้ประสบความสำเร็จในระดับที่ผู้นำคสช.ยิ้มออก เพราะเป้าประสงค์คือการผลักดันให้ผู้นำคสช.มาเป็นนายกรัฐมนตรี(สร.1)
ดีลนี้เป้าหมายหลักสำคัญ คือการผลักดันให้พรรคเพื่อไทยกับพรรคอนาคตใหม่ เป็นฝ่ายค้าน
แต่ในทางกลับกันหากพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่จับมือกันแล้วได้ส.ส.เกิน 250 เสียงขึ้นไป ดีลนี้จะแตกไปโดยปริยาย
การเจรจากันแบบนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เคยเกิดขึ้น ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็มีการเจรจากันเช่นนี้ จับมือกันเป็นมั่นเป็นเหมาะ แต่สุดท้ายดีลก็ล้มเพราะพรรคเพื่อไทยมามากกว่าที่คาดไว้ ดังนั้นดีลแบบนี้ขึ้นอยู่กับว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ส.ส.มากแค่ไหน
และจากการวางหมากกลการเลือกตั้งผ่านมันสมองของแม่น้ำ 5 สายและสั่งผ่านนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถกำหนดตัวเลขจำนวนส.ส.แต่ละพรรคได้ การวางกติกาการเลือกตั้งแบบไทยแลนด์โอนลี่ จึงเกิดขึ้น โดยมุ่งลด ส.ส.เพื่อไทย ให้อยู่ในจำนวนที่น้อยเกินกว่าจะอ้างความชอบธรรมมาเรียกร้องได้
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่ม คสช. ก็มีหลายฝ่ายที่หวังลึกๆ ให้ประชาธิปัตย์สามารถโกยแต้มอันดับ 1 หรือแพ้ไม่ห่าง แล้วชิงจับมือกับพรรคอื่นตั้งรัฐบาลสู้
แต่ถ้าอ่านประวัติศาสตร์ มองดูแล้วแผนนี้ คงเหลวไม่เป็นท่า เพราะการที่ประชาธิปัตย์จะชนะการเลือกตั้งหรือชนะพรรคเพื่อไทย หรือแม้กระทั่งแพ้เฉียดฉิว คงยาก หรือเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลย
ดังนั้นการดีลเพื่อล้มเพื่อไทย และ หาวิธีการในการแก้ไขด้วยรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะการจะล้มเพื่อไทยในสนามเลือกตั้งเป็นเรื่อง “เกินความสามารถ” พรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นผู้มีอำนาจต้องเปิดเกมเอง เดินเกมเองดีกว่า
จากแนวโน้มบวกกติกาไม่น่าจะส่งให้แผนที่วางไว้พลาดเป้าหมาย ในการปูทางให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและผู้มีอำนาจในคสช.ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจากการสนับสนุนของส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง แม้จะเชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลหน้าอายุจะไม่ยืนยาว และอำนาจไม่มากเท่านายกรัฐมนตรีจากรัฐประหาร ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ไม่ลงสมัคร แต่ก็มีคนเชิญมาเป็นนายกรัฐมนตรี
มองรัฐธรรมนูญแล้ว แม้แผนจำกัดจำนวนสมาชิกพรรคเพื่อไทยประสบผลสำเร็จ แต่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อ สิ่งที่คุยกันไว้กับฝ่ายการเมืองขั้วอื่นจบสิ้น รับปากกันเป็นมั่นเป็นเหมาะ ไม่มีใครแหกโผออกไป
อย่างไรก็ตาม การเมืองในหน้ากระดาษ กับหลังเลือกตั้ง 2 ชั่วโมง มีความต่างกันมากโข เพราะอะไรที่คิดว่าคุยกันจบ อาจจะไม่จบ ด้วยนิสัยนักการเมือง ในทางหนึ่งคือไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร แต่ในนั้นก็ยังมีประเภทแค้นฝังหุ่นอยู่ไม่น้อย ยิ่ง คสช.กำราบฝ่ายการเมืองตลอด 4 ปีที่ผ่านมา น่ากลัวว่า แม้เพื่อไทยจะได้ ส.ส.ไปตามแผน คสช. แต่ “ฝ่ายแค้น” อาจจะสำแดงเดชให้ คสช.ต้องกุมขมับ ล้างแค้น หลังถูก มัดมือ มัดเท้า ปิดปาก มา 4 ปี
ทว่า หากสุดท้ายไม่เป็นตามนั้น หรือ ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หว่า ก็ไม่ทำให้คณะคสช.ต้องระวังอะไร เพราะสุดท้ายคสช.ไม่ปล่อยให้นักการเมืองอยู่กันสบายนัก อย่างแน่นอน
มาถึงบรรทัดล่าสุด ล้วนตอกย้ำสิ่งที่ “นายอัษฎางค์ ปาณิกบุตร” อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยกล่าวอย่างชัดเจนในรายการ Ringsideการเมืองว่า แม้คสช.ไปแต่กองทัพยังอยู่ กองทัพคือคสช.และกองทัพเป็นฐานอำนาจใหม่ มีอำนาจพิเศษ ที่ฝ่ายการเมืองต้องเกรงใจ ดังนั้นแม้คสช.ไป แต่กองทัพไม่เคยไว้วางใจพรรคการเมือง โดยเฉพาะ พรรคเพื่อไทย อยู่ดี
Ringsideการเมือง