ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เลขาธิการพรรค พร้อมด้วยสมาชิกพรรค ได้ยื่นเอกสารร่างญัตติด่วนเสนอสภาผู้แทนราษฎร ผ่าน นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อตั้งกรรมการวิสามัญพิจารณาเรื่องแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5
รายละเอียดในเอกสารระบุว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือ PM 2.5 คือละอองลอยในอากาศที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับหรือเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตรหรือไมครอนหรือ 2.5 ส่วนของ 3 ล้านเมตร ซึ่งเมื่อเทียบกับเส้นผมแล้วมีขนาดเพียง 3 ส่วน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมเท่านั้น
PM 2.5 จะสามารถผ่านเข้าไปถึงถุงลมในปอดซึ่งเป็นส่วนลึกสุดของปอด ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ หลอดลมอักเสบ ถุงลมปอดอุดกั้น หอบหืดกำเริบ และภูมิแพ้เป็นต้น นอกจากนี้ PM 2.5 ยังมีองค์ประกอบของสาร Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้
ปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในประเทศไทยโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีแหล่งกำเนิด PM 2.5 ที่สำคัญคือการจราจรขนส่ง ซึ่งมีรถที่จดทะเบียนประเภทต่าง ๆ รวมกันมากกว่า 60 ล้านคัน โดยเฉพาะรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งไม่มีอุปกรณ์กำจัดฝุ่นในท่อไอเสีย
นอกจากนี้การจราจรที่ติดขัดเป็นอย่างมากเข้าขั้นวิกฤตยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้รถมีการระบายฝุ่นเพิ่มมากขึ้น และการเผาในที่โล่งของชีวมวลประเภทต่าง ๆ ได้แก่ เศษวัสดุที่เหลือจากการเพาะปลูกพืชประเภทต่าง ๆ ขยะเศษใบไม้ วัชพืชริมถนน เป็นต้น จึงส่งผลให้ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ในหลายพื้นที่
ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 นับเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง หากยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน อาจส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สำคัญของแผ่นดินและมีความจำเป็นรีบด่วนในอันที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน
ดังนั้น จึงขอเสนอญัตติด่วนดังกล่าวมาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและมาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ให้เป็นระบบอย่างยั่งยืน ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ. ศ. 2562 ข้อ 49 และข้อ 50