วันที่ 24 มกราคม ที่ห้องจูปิเตอร์ อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานวันครบรอบการสถาปนา 12 ปี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และมอบนโยบายการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ
ช่วงหนึ่ง นายวิษณุ กล่าวถึงกรณี องค์กรชี้วัดความโปร่งใสนานาชาติประกาศผลการประเมิน อันดับความโปร่งใสของประเทศต่างๆทั่วโลก โดยไทยอยู่ลำดับที่ 102 โดยระบุว่า
“ในระดับนานาชาติจะมีตัวชี้วัดการทุจริตคือ Corruption Perceptions Index : CPI ของ Transparency International : TI หรือ องค์กรชี้วัดความโปร่งใสนานาชาติ ที่มีหน้าที่ตรวจสอบประเทศที่เข้าร่วมโครงการยอมให้ตรวจสอบ เมื่อปีก่อนไทยได้คะแนน 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 99 ถ้านับจาก 50 คะแนนก็ถือว่าสอบตก แต่ถ้านับเป็นอันดับก็เป็นอันดับที่ 99 ล่าสุดก็ประกาศผลออกมาว่าค่า CPI ของไทยประเมินจากปี 2562 ไทยได้ 36 คะแนนจาก 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101รักษาอันดับไม่ได้ เพราะถูกเวียดนามเบียดแซงไป แต่เรายังมีเวลาที่จะกระเตื้องขึ้นได้” นายวิษณุ กล่าว
ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดโครงการหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 11 ตอนหนึ่งว่า การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเมื่อวันที่ 23 ม.ค.63 ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ประกาศค่าคะแนนดัชนีรับรู้การทุจริต (CPI) ค.ศ. 2019 ปรากฏว่ามี 2 ใน 3 จาก 180 ประเทศ ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน ทั่วโลกคะแนนเฉลี่ย 43 คะแนน โดยประเทศสูงสุดคือ เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ได้ 87 คะแนนเท่ากัน ส่วนประเทศไทยได้ 36 คะแนน อยู่ลำดับที่ 101 จาก 180 ประเทศ ในการให้ค่าคะแนน CPI นั้น พิจารณาจาก 9 แหล่งข้อมูล
โดยของไทยเพิ่มขึ้น 3 แหล่ง เท่าเดิม 4 แหล่ง และลดลง 2 แหล่ง สังเกตได้ว่า คะแนนที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใส หลักนิติธรรม และปัจจัยเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชั่นมีคะแนนเพิ่มขึ้น ดังนั้นในการดำเนินการเพื่อเพิ่มค่า CPI จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ทุกภาคส่วนในสังคมต้องรวมพลังกัน สร้างสังคมไม่ทนต่อการทุจริต นอกจากนี้รัฐบาลต้องมีเจตจำนงแก้ไขปัญหาการทุจริตให้ชัดเจน ต่อเนื่อง ภาครัฐต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ภาคเอกชนต้องไม่ให้ความร่วมมือในการให้สินบนทุกรูปแบบ ควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ ภาคประชาสังคมต้องมีความตื่นตัว ไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉยต่อการทุจริตทุกรูปแบบ สร้างค่านิยมสุจริต ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือ ไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต
พล.ต.อ.วัชรพล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีค่าคะแนน CPI ที่ได้เท่าเดิม แต่ลำดับลดลงว่า ตรงนี้ต้องให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไปวิเคราะห์รายละเอียด อย่างไรก็ดีขณะนี้กำลังติดตามสถานการณ์ และมีการประชุมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ที่สำคัญคือการสร้างความมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
เมื่อถามว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่า CPI ลดลงมาจากปัจจัยทางการเมืองหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งในหลายปัจจัย เพราะตามข้อเท็จจริงต้องดูในภาพรวม ตอนนี้ถือว่าสถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลในโซเชียลมีเดียดีมาก ช่วยกันกดดันตีแผ่พวกทุจริตประพฤติมิชอบ สร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม ส่วนการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเพื่อให้คะแนน CPI เพิ่มขึ้นนั้น เบื้องต้นกำลังให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด โดยจะดูจากหลายปัจจัย ทั้งนี้เพราะในไทยยังไม่มีตัวแทนจาก TI อย่างเป็นทางการ ทำให้การประสานข้อมูลกันค่อนข้างลำบาก แต่หลังจากนี้อาจเสนอให้ ม.หอการค้าไทย เป็นตัวแทน TI ประจำประเทศไทย เพื่อคอยประสานข้อมูลกัน หลังจากนี้จะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาลที่ถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะขับเคลื่อนนโยบายป้องกันการทุจริตให้เกิดขึ้นได้
เมื่อถามถึงเป้าหมายของสำนักงาน ป.ป.ช. ในปี 2563 พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า แน่นอนว่ามีการตั้งเป้าหมายใหม่ให้สำเร็จในปี 2563 เช่น เรื่องคดี จากเดิมเป้าหมายทำให้เสร็จไม่น้อยกว่า 500 คดี/ปี แต่ในปี 2563 ตั้งเป้าจะทำให้เสร็จไม่น้อยกว่า 2,200 คดี/ปี หากทำได้เช่นนี้เชื่อว่าคดีค้างเก่าจะหมดไปในปี 2564 เหลือแต่คดีใหม่ ๆ ที่รับเข้ามา แสวงหาข้อเท็จจริง หรือหากมีมูลจะดำเนินการไต่สวนเป็นต้น ยืนยันว่าช่วงนี้ทำงานกันหนักมาก แต่มีเป้าหมายชัดเจน
ขอบคุณ :
ไทยโพสต์
มติชน