นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การควบคุมไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ว่า กระทรวงสาธารณสุขยกระดับศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขภาวะฉุกเฉินเป็นระดับกระทรวง โดยให้กรม/สำนักเขตสุขภาพ/สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เตรียมพร้อมบุคลากรการแพทย์ของกรมการแพทย์และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการทำงานของกรมควบคุมโรค สำรองทรัพยากร ยา เวชภัณฑ์ ช่องทางการประสานงาน การเฝ้าระวังและรายงานข้อมูล โดยจังหวัดที่มีสนามบินและจังหวัดท่องเที่ยว ให้บูรณาการทรัพยากรในพื้นที่และประสานการทำงานกับหน่วยราชการอื่นอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ความสำเร็จของการรับมือกับโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มี 3 ส่วนหลัก คือ 1.การคัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่ระบาดทำเต็มที่แต่ต้องยอมรับว่าบางรายอยู่ในระยะฟักตัวของโรคหรือรับประทานยาลดไข้ก่อนเดินทาง 2.การรักษาพยาบาลและส่งต่อที่กำลังพัฒนาเพื่อให้ครอบคลุม และ 3.ความร่วมมือของประชาชน ชุมชน สื่อมวลชน เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้การรับมือโรคมีประสิทธิภาพ ไม่ตื่นตระหนก รับฟังข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ช่วยแจ้งเตือน ส่งต่อข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อเป้าหมายให้ประชาชนในประเทศปลอดภัย และไม่มีการระบาดของโรคในประเทศ
ด้านนายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ องค์การอนามัยโลกยังไม่ประกาศให้โรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่เพื่อความไม่ประมาทประเทศไทยคงคุมเข้มมาตรการทั้งการเฝ้าระวังคัดกรองผู้ป่วยสงสัยฯ จากพื้นที่แพร่ระบาดของโรค ที่สนามบิน โดยขณะนี้ เพิ่มการคัดกรองผู้เดินทางจากจีนอีก 2 เมืองคือกว่างโจวและฉางชุน และจะปรับเพิ่มตามการคัดกรองประกาศของทางการจีน ในส่วนสถานพยาบาลรัฐ/เอกชน ได้เข้มงวดการคัดกรองผู้มีไข้ ไอ และมีประวัติการเดินทางจากพื้นเสี่ยง ส่วนในชุมชน โรงแรม/ที่พัก ขอความร่วมมือให้เป็นจุดเฝ้าระวัง
โดยเมื่อวานนี้ (26 มกราคม 2563) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมร่วม 3 กระทรวง เพื่อหารือและเตรียมการในระดับนโยบาย ด้าน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของด่านควบคุมโรค จ.ตาก และในวันนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าร่วมประชุมชี้แจงมาตรการควบคุมป้องกันโรคกับผู้ประกอบการทัวร์ โรงแรมและผู้ขับขี่รถสาธารณะ
สำหรับ .สถานการณ์ ถึงวันที่ 27 มกราคม 2563 ณ เวลา 08.00 น.
1.พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจากต่างประเทศ 8 ราย (กลับบ้านแล้ว 5 ราย อีก 3 รายนอนโรงพยาบาล ) ไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศไทย
2.มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2563 ถึง 26 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนต้องเฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 102 ราย คัดกรองจากสนามบิน 24 ราย มารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอง 78 ราย อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว 54 ราย ส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ยังคงรับไว้ในห้องแยกโรค 48 ราย
3.สถานการณ์ทั่วโลก ข้อมูล ตั้งแต่ 5 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2563 พบผู้ป่วย 40 ราย ใน 12 ประเทศ และ 3 เขตปกครองพิเศษ ส่วนประเทศจีน ข้อมูล ณ วันที่ 26 มกราคม 2563 พบผู้ป่วย 1,975 ราย เสียชีวิต 56 ราย
4.ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข สถานการณ์จะดีขึ้นด้วยความร่วมมือจากประชาชน อย่าเชื่อข่าวลือจากทุกทาง “เช็คก่อนแชร์” ข้อมูลผู้ป่วยทางสื่อออนไลน์ เพื่อไม่ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแพร่หลาย เกิดความตระหนก และมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โปรดติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุข หากมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/intro.php และ Line@ / เพจเฟสบุ๊ค : รู้กันทันโรค, เพจเฟสบุ๊ค : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
สำหรับข้อแนะนำประจำวันในการป้องกันตนเองจากโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
สาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศปิดการเดินทางสาธารณะที่เข้าออกเมืองอู่ฮั่นและพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทุกช่องทาง และประชาชนควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่นและเมืองที่มีการระบาดตามคำประกาศของทางการจีน
- ระหว่างเดินทางในต่างประเทศขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีมลภาวะ และไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอจาม แนะนำควรสวมหน้ากากอนามัย
- หลีกเลี่ยงการเข้าไปตลาดค้าสัตว์มีชีวิต การสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ที่ป่วย หรือตาย และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรวมถึงเนื้อสัตว์ที่ไม่สุกดี
- หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำ และสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น และปฏิบัติตามคำแนะนำ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” อย่างเคร่งครัด
- ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว) เนื่องจากเชื้อก่อโรคทางระบบทางเดินหายใจสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
- รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทย ภายใน 14 วัน ถ้ามีอาการไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนปอดบวม และมีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้
- หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 หรือเว็บไซต์ https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/intro.php และ Line@/เพจเฟสบุ๊ค : รู้กันทันโรคเพจเฟสบุ๊ค : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข