นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จังหวัดตากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวสูงมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ชายแดน มีที่ตั้งอยู่ตามแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งถือเป็นเส้นทางการคมนาคมและการค้าขายที่สำคัญ ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุน ตลอดจนมีอนาเขตใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภาคเหนือ และมีพื้นที่ติดกับจังหวัดต่างๆจำนวนถึง 9 จังหวัด ทำให้จังหวัดตากเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการเป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และสามารถสร้างความเติบโตทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดนได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ตนจึงได้มอบหมายให้สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ ไอทีดี จัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมเรื่อง “การเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการท่องเที่ยวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับ 2″ เพื่อเป็นการติดตามผลและต่อยอดจากการฝึกอบรมในปีงบประมาณ 2562 โดยนำองค์ความรู้จากแนวความคิดเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ. 2025 เรื่องความเชื่อมโยงและความร่วมมือสาขาการท่องเที่ยว มาใช้ประกอบในการจัดทำเนื้อหาสาระของการฝึกอบรม เพื่อให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดตาก ได้เรียนรู้ถึงแนวทางการพัฒนาบริการ เปิดโลกทรรศน์ และมุมมองใหม่ๆ ผสานแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนยกระดับและพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดและของประเทศ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน อันจะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม รวมจำนวนทั้งสิ้น 12 ชั่วโมง ประกอบด้วยการเรียนรู้ในห้องเรียน และ workshop กรณีศึกษา ก็พบว่าผู้ประกอบการที่เข้ารับการฝึกอบรม จำนวนประมาณ 80 คน มีความรู้ความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างการท่องเที่ยว กับการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น สามารถเชื่อมโยงกระบวนความคิดต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัด และนำหลักการทางเทคโนโลยีและการตลาดสมัยใหม่ไปปรับใช้ในบริบทของตนได้อย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ นายวีรศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ และเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง ถือเป็นจุดแข็งที่ประเทศไทยจะต้องรักษามาตรฐานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการการท่องเที่ยวในการปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสจากการเปิดเสรีการค้าภาคบริการ และการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวนั้น มีความสำคัญมากและจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมจัดการการท่องเที่ยว เพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนท้องถิ่น กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนต่อไป