ดูเหมือนจะมีอะไรในกอไผ่เสียแล้ว กับกรณีที่ สนช. ยื่นตีความกฎหมายลูก ว่าด้วยที่มาของ ส.ว. และการเลือกตั้ง ส.ส.
ในส่วนของกฎหมายลูกเกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภาอยู่ในชั้นเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพราะ กรธ. กับ สนช. ดันบังเอิญเห็นไม่ตรงกันทั้งที่ผ่านการลงมติของ สนช.ไปแล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญบอกให้เลือกไขว้ระหว่างกลุ่ม แต่ สนช. ดันไปแก้ให้เลือกกันเองภายในกลุ่ม
อันนี้ก็ชัดเจนว่าขัดใจกลุ่ม กรธ. ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน
ปัญหาเรื่องยื่นตีความที่มา ส.ว. น่าจะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปถึงกลางปี เพราะต้องดูว่าจะแก้รายมาตรา หรือทั้งฉบับ นับว่าสะเด็ดน้ำแล้ว กับการแก้ไขปัญหาวุ่นๆ ของกฎหมายลูกฉบับนี้
แต่ที่น่าติดตามคือกฎหมายลูกว่าด้วยที่มา ส.ส. ที่เรื่องเล็กกว่า แต่แม่น้ำ 5 สายดันออกอาการยึกยัก เรื่องของเรื่อง กฎหมายฉบับนี้ มีข้อท้วงติงว่า การตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งไม่ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองหรือผู้บริหารท้องถิ่น เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพหรือไม่
และประเด็นการให้บุคคลอื่นช่วยลงคะแนนเสียงแทนผู้พิการอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นเรื่อง “ลับ” หรือไม่
ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายลูกที่กำลังเป็นที่ถกเถียง หากย้อนกลับไป ทั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และ สนช.เคยคุยกันจนตกผลึก กระทั่งผ่านมติไปแล้ว ทำไมจึงมาบังเอิญคิดได้เอาป่านนี้
ความแปลกประหลาดถึงขั้นที่นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า จะเป็นเรื่องของการ “ต่ออายุอำนาจ” และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” ย่อมไม่ปล่อยไว้
สะท้อนอาการว่าฝ่ายการเมืองง่อยเปลี้ยเสียขา ชั่วโมงนี้ หวังพึ่ง “สิ่งที่ตามองไม่เห็น” ไปพลางก่อน
สำหรับการแก้ไขกฎหมายลูก เรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. หากบริสุทธิ์ใจ ย่อมทำไม่ยาก เพราะเร่งรัดรวบรวมรายชื่อ ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความไปพร้อมกับ พรป.ที่มา ส.ว. หากศาลรัฐธรรมนูญเร่งตีความ จะสามารถประกาศใช้ไปพร้อมกับ พรป. สว. และการเลือกตั้งน่าจะเกิดทันในช่วงกลางปี 2562
แต่ปรากฏว่านายสมชาย แสวงการ เลขาธิการวิป สนช. กลับมาสร้างเงื่อนไขว่า หากจะให้มีการส่งตีความกฏหมายลูกเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส.ต้องให้ฝ่ายการเมืองทำสัตยาบรรณยอมให้การเลือกตั้ง เลื่อนไปได้อีก
ทั้งที่ สนช. ก็เพิ่งยืดเลือกตั้งไป 90 วันเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าให้พรรคการเมืองได้เตรียมตัวเลือกตั้งทัน
สิ่งที่น่าจับตามองที่สุด คือการให้สัมภาษณ์ของ กกต. บุญส่ง น้อยโสภณ ที่ระบุว่า
“หากมีการยื่นตีความหลังเลือกตั้ง แล้วศาลบอกให้การเลือกตั้งเสียไป เท่ากับต้องเสียงบประมาณจำนวนมาก”
เท่ากับบีบให้ฝ่ายการเมืองต้องคิดถึงเรื่องการทำสัตยาบรรณยอมให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป เพื่อให้กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ชัดเจนขึ้น หรือปล่อยผ่านปัญหา แล้วไปลุ้นหลังเลือกตั้งว่าจะมีคนร้องศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในประเด็นที่มาของ ส.ส. ที่สุดท้ายอาจทำให้การเลือกตั้งเป็น
“โมฆะ”
อย่าลืมว่าการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่คุมไม่ได้ ในขณะที่ฝ่าย คสช. ก็มีเดิมพันสูง หากปล่อยให้บางพรรคเข้ามากุมอำนาจ หมายถึงการล้มรัฐบาลที่ผ่านมา เท่ากับ “เสียของ”
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้าง “ทางออกฉุกเฉิน” ป้องกันเหตุไม่คาดคิด
เผลอๆ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่กำลังมีปัญหาถกเถียงกันอยู่ หากไม่ส่งตีความให้ชัวร์ อาจจะเป็น “ทางออกฉุกเฉิน” หลังเลือกตั้งแบบเนียนๆ ก็เป็นได้
Ringsideการเมือง