เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. ดร.พะโยม ชินวงศ์ ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. นายชลำ อรรถธรรม ที่ปรึกษา สช. ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามงานตามนโยบายการศึกษาเอกชน ณ โรงเรียนศรีอรุโณทัย อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง โดยมีนายพรเทพ ผ่องศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง นายคงกฤษ ฉัตรมาลีรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระนอง นายเสถียร รุกขพันธ์ ศึกษาธิการจังหวัดระนอง รวมทั้งผู้บริหารในพื้นที่ ข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ให้การต้อนรับ
ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศธ. ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ โรงเรียนศรีอรุโณทัย อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนองว่า ” ตนมีความห่วงใยในสุขภาพและความปลอดภัยของนักเรียนทุกคน รวมถึงการเรียนของนักเรียนโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศประมาณ 4,000 โรงเรียน เพราะหากสถานการณ์ของไวรัสโคโรนา 2019 ยังไม่ดีขึ้น จะกระทบไปถึงการจัดการศึกษาภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2563 จนทำให้นักเรียนไม่สามารถไปเรียนตามปกติได้ เนื่องจากโรงเรียนต้องปิดเรียนเป็นบางช่วง จึงคิดว่า การเรียน Online จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาตรงนี้ได้ ซึ่งสำหรับการจัดการเรียนการสอนสายสามัญ ในระดับอนุบาล จนถึงระดับมัธยม โดยระบบออนไลน์จะสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ โดยจากการสำรวจโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่มีการจัดทำสื่อออนไลน์ไว้ประกอบการเรียนการสอนอยู่แล้วในบางวิชา หรือบางสาระวิชาก็ใช้เสริมทักษะและจัดกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนของตนเอง ทั้งแบบ Online และ Offline โดยตอนนี้มีโรงเรียนเอกชนประมาณ 10 แห่ง ที่มีระบบ Online ที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ดำเนินการประสานความร่วมมือโรงเรียนต้นทางแล้วจำนวน 5 โรงเรียน ที่พร้อมให้บริการการจัดการศึกษา Online ฟรี เพื่อช่วยเหลือโรงเรียนอื่น ๆ และช่วยแก้ปัญหาการศึกษาของชาติด้วย ได้แก่ โรงเรียนวังไกลกังวล (ตามโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม) โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ (ตามโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จังหวัดชายแดนภาคใต้) โรงเรียนกรุงเทพวิทยาการคอมพิวเตอร์ (ตามโครงการ Virtual School) โรงเรียนเซนต์คาเบรียล และโรงเรียนอัสสัมชัญ โดยได้รับความร่วมมือในการอนุญาตให้โรงเรียนเอกชนสามัญทั่วประเทศกว่า 4,000 โรงเรียน ใช้ฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยคาดว่าระบบการเรียน Online จะช่วยให้การจัดการศึกษา โดยเฉพาะในโรงเรียนเอกชนผ่านวิกฤตช่วง ไวรัสโควิด 19 ไปได้ โดยเด็กๆ เรียนที่บ้านปลอดภัย ได้ความรู้ และในอนาคตโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศจะเป็นโรงเรียนแม่ข่ายกับโรงเรียนต้นทาง กรณีที่ขาดครูผู้สอน ขาดผู้เชี่ยวชาญ หรือสื่อบางสาขาวิชา จะสามารถใช้บริการจากโรงเรียนต้นทางได้ เป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนเครือข่ายทั่วประเทศ ต่อไป ดร.กนกวรรณ กล่าว
รมช.ศธ. กล่าวต่อไปว่า “นอกจากนโยบายการเรียนออนไลน์ฟรี เพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนในช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 แล้ว ตนได้มีนโยบายการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในโรงเรียนในระบบและนอกระบบทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนพัฒนาและขยายผล รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้ครูและผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนากระบวนการเรียนรู้ในทุกระดับชั้น โดยจะมีการตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเร็วๆนี้ และส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเวทีการแสดงออกของนักเรียนเด็กดาวรุ่ง ที่มีผลการเรียน เกรดเฉลี่ย 2.2 ลงมาเพื่อสร้างเวทีการแสดงออกในความรู้ ความสามารถ ของนักเรียนเด็กดาวรุ่ง ในวิชาศิลปะ ดนตรี กีฬา หัตถกรรม และอื่นๆ ใน ๕ ภูมิภาค รวมทั้งการส่งเสริมหลักสูตรอบรมครูแบบทางเลือก (Shopping List) ที่จะดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรอบรมครูเพื่อให้ครูมีความรู้ ทักษะการสอน และสามารถออกแบบการเรียนรู้ในการพัฒนาผู้เรียนต่อไป
สำหรับการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนที่ได้มานำเสนอในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนศรีอรุโนทัย หรือโรงเรียนหมิงซิน ที่ได้นำเสนอโครงงาน เด็กดี มีคุณธรรมและโครงงานส่งเสริมอาชีพ และโครงงานเด็กปฐมวัย (childs show) ก็ล้วนประทับใจเป็นอย่างยิ่ง รู้สึกชื่นใจที่เด็กๆเยาวชนๆของเราที่อยู่เพียงระดับอนุบาลและประถมศึกษา ได้รับการบ่มเพาะให้สามารถถ่ายทอดความรู้ ความสามารถได้อย่างน่ารักและลงตัว ไม่ว่าทักษะด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์หรือ ทักษะต่างๆ ซึ่งขอชื่นชมการทำงานของผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ ที่ช่วยกันพัฒนาการศึกษา และบูรณาการจัดการศึกษาและการยกระดับคุณภาพการศึกษาของนักเรียนได้อย่างยอดเยี่ยม เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ ๒๑ อย่างรอบด้าน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา รวมถึงผู้ปกครองทุกท่านที่สนับสนุนบุตรหลานและโรงเรียน ให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี ส่วนปัญหาด้านการขยายสวัสดิการให้ครอบคลุมและการบริหารจัดการต่างๆนั้น ตนยินดีรับไว้ และจะประชุมหารือเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป” ดร.กนกวรรณ กล่าวในที่สุด
ข่าว : เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ
ภาพ : ปรานี บุญยรัตน์
วิดีโอ : ณัฐวุฒิ วากะดวน
บรรยาย : กรรณิกา พันธ์คลอง