เป็นวัยที่เหมาะสมกับการลงทำงานการเมือง แถมหน้าตายังหล่อเหลา ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจ สำหรับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่
ทว่าการได้เสียงทางการเมืองนั้น มิใช่หากันได้ง่าย เพราะคนไทยใช่จะตัดสินใจเพียงภาพที่เห็น ณ ปัจจุบัน แต่พวกเขายังต้องย้อนมองสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต
และธนาธร มีแนวคิดหลายอย่างที่ “น่าสงสัย”
โดยเฉพาะอุดมการณ์บางอย่างที่กระเทือนความรู้สึกของคนไทย และกำลังวนกลับเข้ามาเล่นงานธนาธรอย่างดุเดือด ผ่าน Quoteคำพูด จำนวนหนึ่ง ที่เขามิอาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้เลย เพราะมันคือสิ่งที่ธนาธรเคยพูดไว้
เริ่มจาก “ไม่ต้องหมอบกราบพระเจ้าองค์ไหน”
มาจากข้อความที่เขาโพสต์ช่วงกลางปี 2560
“ไม่ต้องหมอบกราบพระเจ้าองค์ไหน หรือบริจาคเงินให้ผู้วิเศษองค์ใด อนาคตของความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอยู่ที่ความก้าวหน้าด้านวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี” ก่อนจะสาธยายถึง ที่ตั้งของโรงงานผลิตตัวถังรถยนต์แห่งใหม่ของกลุ่มไทยซัมมิท ในรัฐแคนตั้กกี้ สหรัฐอเมริกา…
แต่ข้อความดังกล่าวก็สร้างความคลางแคลงใจให้กับคนไทยอย่างมากว่า…มีเจตนาแฝงอะไรหรือไม่ อย่างไร ??
จากนั้นเขาถูกตั้งคำถามอันเนื่องมาจากข้อความของเขาเอง
“รัฐไทยไม่ควรอุปถัมป์ศาสนาพุทธ”
คำนี้อยู่ใน นิตยสาร GM ฉบับเดือนพฤษภาคม 2560
ผมคิดว่าทุกคนมีพระเจ้าของตัวเอง แล้วคุณก็คุยกับพระเจ้าของคุณเองได้โดยไม่ต้องผ่านวัด โบสถ์ หรือมัสยิด คุณคุยกับพระเจ้าของตัวคุณได้ แม้กระทั่งระหว่างการวิ่ง คุณก็คุยกับพระเจ้าได้ คุณไม่ต้องไปตักบาตร ไปมิสซา หรือละหมาดเพื่อจะคุยกับพระเจ้า สิ่งที่ผมเชื่อก็คือศรัทธาทางศาสนาควรจะเป็นศรัทธาที่เปิดกว้าง และไม่ควรมีวัดหรือศาสนา หรือองค์กรใดมาบังคับหรือเชิดชูความเชื่อใดความเชื่อหนึ่งให้มากกว่าความเชื่ออื่นๆ เช่น รัฐไทยไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาพุทธ เพราะมันทำให้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แก้กันไม่จบ ผู้คนที่อยู่ใน 3 จังหวัด แง่หนึ่งก็เหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง เพราะไม่มีที่ยืนที่เท่าเทียมกันกับคนที่นับถือศาสนาพุทธ ผมคิดว่ารัฐควรจะถอยตัวเองออกมาจากเรื่องศาสนา ไม่ควรจะอุปถัมภ์ศาสนาอะไรเลย ที่นี่คุณจะนับถือยูดาย คุณจะนับถือเต๋า นับถือเซนก็ได้ เหมือนอย่างธรรมกาย ต่อให้ไม่เห็นด้วยกับธรรมกาย รัฐก็ไม่ควรไปยุ่ง ปัญหาคือถ้ารัฐไปยุ่ง มันก็จะซับซ้อนวุ่นวายไปหมด
ในอดีตธนาธรเคยกล่าวไว้ว่า
“เศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นวาทกรรมแบบหนึ่งเท่านั้น”
มาจากการให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 263 มกราคม ปี 2550 โดยเป็นการตอบคำถามข้อหนึ่ง ดังนี้
สารคดี : ถ้านิยามว่า เศรษฐกิจพอเพียง คือการพึ่งตนเองได้ และสร้างภูมิคุ้มกันในธุรกิจของตัวเอง ไม่ได้หมายความว่า ไม่ให้เพิ่มการลงทุน
ธนาธร : ผมคิดว่ามีนักวิชาการคนหนึ่ง คือคุณศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ พูดไว้ชัด คือทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง หรือแม้แต่กระแสชุมชนนิยม มันมีรากฐานอย่างหนึ่งคือ ข้างในมันดี และข้างนอกมันเลว อะไรก็ตามที่มันเลวมันมาจากข้างนอกหมด เราอยู่ข้างในเราก็ดีกันอยู่แล้ว โดยที่เราลืมไปอย่างหนึ่งว่า มันเป็นเพียงมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นมา เวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง พูดถึงชุมชนนิยม หรือแม้แต่ในประเทศไทย เราบอกว่าเราไม่เปิดเสรีเพราะเรารู้สึกว่าอะไรก็ตามที่มาจากข้างนอกมันสร้างกิเลส มันสร้างความโลภ มันเอาอะไรต่างๆ ที่ไม่ดีในเชิงจริยธรรมในเชิงศีลธรรมเข้ามา แล้วเราก็พยายามปลูกฝังความคิดแบบชาตินิยมขึ้นมา แท้จริงแล้วการชูเรื่องชาตินิยมก็เพียงเพราะคุณต้องการปกป้องทุนชาติ เพราะคุณรู้สึกว่าถ้าปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาคุณเสียประโยชน์ เพราะคุณแข่งขันสู้บริษัทยักษ์ใหญ่พวกนี้ไม่ได้ ถามว่าเศรษฐกิจพอเพียง คุณปิดประเทศหรือเปล่า ถ้าคุณไม่ปิดประเทศ บริษัทยักษ์ใหญ่พวกนี้เข้ามา ผมถามว่าคุณแข่งขันสู้เขาได้หรือเปล่า ดูธุรกิจใหญ่ๆ ของไทย วันนี้เหลือธุรกิจอะไรบ้างที่ยังเป็นของคนไทย ที่ยังเป็นของทุนชาติอยู่ ผมรู้สึกว่าเหลือไม่เยอะ
ถ้าถามผมเป็นนายทุนผมชอบไหม ชาตินิยม ชูเลยใช้ของไทย คุณผลิตรถยนต์คุณต้องซื้อของจากบริษัทคนไทย ผมแฮปปี้ แต่ถามว่าท้ายที่สุดใครล่ะได้กำไร ทุนชาติและทุนต่างชาติก็ได้กำไรเหมือนกัน การสะสมทุนก็กระจุกตัวอยู่แค่กลุ่มคนระดับสูงบางกลุ่มเหมือนกัน ถามว่าแล้วทุนชาติกับทุนต่างชาติต่างกันอย่างไร ไม่ต่างกัน เพียงแต่เรามีมายาคติ ท้ายที่สุดเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นวาทกรรมแบบหนึ่งเท่านั้นเอง”
ชัดเจนว่า “อดีต” กำลังตามหลอกหลอนธนาธร
ธนาธรถูกมองว่าเป็นความหวังของการเมืองไทย แต่แนวคิดที่ขัดกับ “บรรทัดฐาน” ของสังคม กำลังกระตุกให้สังคมต้องมองธนาธร ลึกลงไปมากกว่า “รูปลักษณ์” และความพยายามเปลี่ยนแปลงประเทศในแบบของเขา
เจาะไปถึงความมุ่งหมายของธนาธร
“ความมุ่งหมายที่น่ากลัว” เกินกว่าสังคมจะชื่นชมได้อีกต่อไป
Ringsideการเมือง