หน้าแรก news “หมอแหยง” เผย หน่วยงานสุขภาพและสังคมจับมือเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่ ประกาศจุดยืน! “สู้ภัยโรคโควิด19”

“หมอแหยง” เผย หน่วยงานสุขภาพและสังคมจับมือเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่ ประกาศจุดยืน! “สู้ภัยโรคโควิด19”

0
“หมอแหยง” เผย หน่วยงานสุขภาพและสังคมจับมือเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่ ประกาศจุดยืน! “สู้ภัยโรคโควิด19”
Sharing

วันนี้ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๓ ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มีการประชุมผู้บริหารของหน่วยงานด้านสุขภาพด้านสังคม ผู้แทนกรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และเครือข่ายหมออนามัย ๗ องค์กร โดยมี นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรมว.สธ. เป็นประธาน เพื่อกำหนดมาตรการร่วมของหน่วยงานด้านสุขภาพและด้านสังคมในส่วนกลาง และเครือข่ายประชาสังคมในพื้นที่ จับมือขับเคลื่อนเตรียมความพร้อมของประชาชนในการดูแลสุขภาพตัวเอง ครอบครัว และหนุนช่วยมาตรการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อต่อสู้กับวิกฤตการระบาดของโรคโควิด19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นและกระจายเข้าสู่พื้นที่ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกหวาดกลัวจากข่าวสารและการกลับสู่ชนบทของญาติพี่น้องหลังจากรัฐบาลประกาศมาตรการ Lockdown กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง

หลังประชุม นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรมว.สธ.กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตของประเทศจากภัยดังกล่าวหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ เช่น สช.,สปสช.,สสส.,สวรส.,สรพ.,สพฉ. และด้านสังคม เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.),ThaiPBS และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างเห็นพ้องกันว่าทุกหน่วยงานจะต้องรวมพลังเป็นเอกภาพร่วมกับเครือข่ายภาครัฐสถาบันวิชาการธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ จับมือรวมพลังแสดงบทบาทร่วมรับผิดชอบและหนุนช่วยมาตรการต่างๆ ของรัฐอย่างเป็นระบบและเป็นเอกภาพเพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสนี้ ด้วยการบูรณาการภารกิจ เครื่องมือทรัพยากรและงบประมาณของแต่ละองค์กรเข้าด้วยกันเพื่อไปสนับสนุนบทบาทของภาคีเครือข่ายในพื้นที่และหนุนช่วยหน่วยงานภาครัฐและองค์กรชุมชนในระดับตำบลและหมู่บ้านให้ร่วมกันขับเคลื่อนยกระดับการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน เปลี่ยนจากประชาชนที่ตื่นกลัวเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ในการดูแลตนเอง ครอบครัว สังคม และมีส่วนร่วมกำหนดมาตรการต่างๆ ของชุมชนพื้นที่ในการสู้ภัยโควิด19 เพราะการรับรู้และบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญสุดที่จะช่วยไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้ ภายใต้หลักการ “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ หนุนช่วยรัฐสู้ภัยโควิด19”

นพ.สำเริง แหยงกระโทก กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ หนุนช่วยรัฐสู้ภัยโควิด19” มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ด้วยการใช้ตำบลเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์และจัดกระบวนการของประชาชน อาสาสมัครกลุ่มต่างๆ และหน่วยงานในพื้นที่เพื่อให้เกิดข้อตกลงร่วมของประชาชนหรือธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด19

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยเพิ่มเติม ที่ประชุมผู้บริหารของหน่วยงานด้านสุขภาพและด้านสังคมรวมทั้งเครือข่ายหมออนามัย ๗ องค์กร มีมติร่วมกันว่าจะขับเคลื่อน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ หนุนช่วยรัฐสู้ภัยโควิด19” ด้วยการ

๑.เครือข่ายหน่วยงานส่วนกลางร่วมกันกำหนดแผนงาน และแนวทางดำเนินการร่วมกันเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายและหน่วยงานในพื้นที่ และจัดตั้งศูนย์ประสานงานสนับสนุนการสู้ภัยโควิด19 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) เป็นหน่วยงานประสานงานกลาง

๒.กระทรวงสาธารณสุข และ กรมการปกครองจะสนับสนุนให้ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ของทุกอำเภอภายใต้งบประมาณสนับสนุนเดิมของ สสส.ประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ กำหนดเรื่องการสู้ภัยโควิด19 เป็นประเด็นสำคัญของอำเภอ และให้มีการสร้างทีมวิทยากรพี่เลี้ยงอำเภอที่ประกอบด้วยสาธารณสุขอำเภอ และแกนนำภาคประชาสังคมในพื้นที่ ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการในตำบลและชุมชนหมู่บ้าน โดยมีเครือข่าย หมออนามัย ๗ องค์กรเป็นแกนประสานงาน

๓. ทีมวิทยากรพี่เลี้ยงอำเภอภายใต้การสนับสนุนวิชาการและงบประมาณเพิ่มเติมจากสสส. สปสช. และ สช.ดำเนินการและสนับสนุนให้ รพ.สอ. ร่วมกับ อบต./เทศบาล สภาองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และอาสาสมัครอื่นๆ ร่วมกันจัดเวทีขับเคลื่อนให้เกิดข้อตกลงร่วมของประชาชนหรือธรรมนูญประชาชนสู้ภัย โควิด19 ของแต่ละตำบลและชุมชนหมู่บ้าน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากหมวดบริหารของกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต./เทศบาล

๔. ข้อตกลงร่วมของประชาชนหรือธรรมนูญประชาชนสู้ภัยโควิด19 ที่เกิดจากฉันทมติของหน่วยงานและประชาชนของแต่ละตำบลและชุมชนหมู่บ้านจะประกอบด้วยมาตรการทั่วไปที่ทุกพื้นที่ควรมี และมาตรการเสริมเพิ่มเติมที่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยแต่ละมาตรการจะกำหนดบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงาน กลุ่มประชาชน ครอบครัว และประชาชนเป้าหมาย ไว้อย่างชัดเจนเป็นสัญญาประชาคมที่ง่ายในการปฏิบัติ

๕. หน่วยงานต่างๆ แกนนำองค์กรชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้านและกลุ่มประชาชนในพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมตามมาตรการต่างๆ ที่เป็นสัญญาประชาคมเพื่อสู้ภัยโควิด19 ในพื้นที่ของตน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากหมวดป้องกันโรคระบาดหรือภัยพิบัดของกองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต./เทศบาล หรือกองทุนอื่นๆในพื้นที่

๖. สนับสนุนให้ทุกตำบลและชุมชนหมู่บ้านมีการสรุปบทเรียนรู้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง และพัฒนายกระดับเป็นข้อตกลงร่วมของประชาชนหรือธรรมนูญตำบลและชุมชนหมู่บ้านสู้ภัยพิบัดและสถานการณ์ฉุกเฉินอื่น

เลขาธิการ คสช. กล่าวต่อว่าการขับเคลื่อนให้เกิดข้อตกลงร่วมของประชาชนหรือธรรมนูญประชาชนสู้ภัย โควิด19 ทุกตำบลชุมชนหมู่บ้าน ภายในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๖๓และในกรุงเทพมหานคร อาจดำเนินการนำร่อง ที่สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของพื้นที่เป็นตัวอย่างในบางชุมชนพื้นที่หรือบางเขต

ขณะที่นายมงคล เงินแจ้ง แกนนำเครือข่ายหมออนามัย ๗ องค์กรกล่าวว่าเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ หนุนช่วยรัฐสู้ภัยโควิด19” คือให้ประชาชนในพื้นที่เกิดการรับรู้ข่าวสารและเข้าใจมาตรการต่างๆ ในการสู้ภัยโควิด19 ทำให้เปลี่ยนจากประชาชนที่ตื่นกลัว เป็นพลเมืองที่ตื่นรู้และมีบทบาทสำคัญในการดูแลตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม ร่วมสู้ภัยโควิด19 ด้วยมาตรการของประชาชนเอง และขณะนี้มีการดำเนินการเรื่องนี้ไปหลายพื้นที่แล้ว เช่น ธรรมนูญสุขภาพตำบลสร้างนกทาว่าด้วยปฏิบัติการต้านโควิด19 หรือธรรมนูญตำบลหนองหลวงว่าด้วยมาตรการเร่งด่วนเฉพาะกิจเกี่ยวกับโควิด19 หรือประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด19 ของเทศบาลตำบลพนา และ อบต.ไร่ขี เป็นต้น และเครือข่ายหมออนามัย ๗ องค์กร มีความมั่นใจว่าจะขับเคลื่อนให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ทั่วประเทศอย่างแน่นอน


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่