ชาชินเสียแล้วที่ทุกเวทีเสวนาการเมือง มักจะมีคำถามเด็ดบีบใจ “สนับสนุนนายกฯคนนอกหรือไม่” เป็นคำถามเชิงบังคับตอบ มีตัวเลือกแค่ เลือก กับไม่เลือก
ทั้งที่การหย่อนบัตรยังอยู่ในสภาพลูกผีลูกคนหาความแน่นอนไม่ได้
คนที่น่าหนักใจที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นนักการเมือง ที่ไม่ว่าตอบไปทางไหน ก็กลายเป็นคนเลวทรามต่ำชั่ว
หากบอกว่า ไม่หนุนนายกฯคนนอก ย่อมถูกจัดที่ทางไปเป็นส่วนหนึ่งของ “ระบอบทักษิณ” ซึ่งไม่มีการนิยามว่าคืออะไร แต่ฝ่ายหนึ่งมองว่าชั่วช้าไปแล้ว
แต่เมื่อบอกว่าหนุนนายกฯคนนอก จะถูกจัดที่จัดทางไปอยู่ฝ่าย “เผด็จการทหาร” เสีย ถือว่าไม่มีใจเป็นประชาธิปไตย
ชัดเจนว่าเลือกทางไหนก็ผิด
แต่ที่สำคัญ ก่อนที่จะมาบังคับให้นักการเมืองเลือกนายกฯ คนนอก หรือนายกฯ คนใน ต้องถามกลับว่าแล้วประชาชนเลือกหรือยังว่าจะเอาแบบไหน เพราะที่ผ่านมา ตัวประชาชนเองยังโลเล และมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แต่ไฉนเลยจึงบีบให้นักการเมืองเลือกก่อนเล่า
ทั้งที่ประชาชนควรจะเป็นคนชี้นิ้วสั่งนักการเมืองมิใช่หรือ
หากยกตัวอย่างจากประวัติศาสตร์ สมัยที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้รับเชิญขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2523 นั้น ทั้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับได้รับความเห็นชอบจากสังคม ที่เบื่อหน่ายกับการบริหารประเทศของเครือข่ายพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ที่กุมอำนาจมาตั้งแต่ปี พุทธศักราช 2519 ขุมอำนาจทั้งหลายล้วนเป็นคนใกล้ชิดทั้งสิ้น กอปรกับเริ่มมีกระแสเรียกร้องการเลือกตั้ง จากการสึกกร่อนของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วโลก แต่ก็ต้องการใครสักคน ที่มีบารมีพอ จนเครือข่ายทหารเก่ามิสามารถแทรกแซงได้ ขณะที่ฝ่ายการเมือง มีใจพร้อมจะทำงานร่วม
หวยจึงมาลงที่พลเอกเปรม อันเป็นไปตามที่สถานการณ์กำหนด ในวงเล็บว่า “ประชาชนยอมรับ”
แม้พลเอกเปรมจะถือว่าเป็นนายกฯคนนอกที่เข้ามาอย่างถูกต้องชอบธรรม แต่กระแสของประชาชนย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ด้วยความที่พลเอกเปรมนั่งดำรงตำแหน่งมาแล้วถึง 2 สมัย ขณะที่เศรษฐกิจไทย ขยับไปได้อย่างเต่าคลาน มวลชนเริ่มเบื่อหน่าย นักวิชาการเริ่มส่ายหน้า กระแสเรียกร้องให้พลเอกเปรมลงจากตำแหน่งจึงเกิดขึ้น พร้อมกับความหวังในการได้ผู้นำ ที่เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจ ในวงเล็บว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะปริบทการเมืองเปลี่ยนไป ฝ่ายทหารที่เคยหนุ่ม บัดนี้กลายเป็นเสือเฒ่าไร้เขี้ยว ประชาชนเชื่อว่า นายกฯควรมาจากการเลือกตั้งเสียที
ที่สุดแล้ว จึงได้ผู้นำประเทศชื่อ “พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน” ผู้ปั่นเศรษฐกิจไทย ให้รุ่งโรจน์ที่สุดยุคหนึ่ง
เป็นตัวอย่างการสลับฉากนายกฯคนนอก สู่นายกฯคนใน ที่ไหลตามสถานการณ์ ทางการเมือง และเป็นไปตามความต้องการของประชาชน ณ ช่วงเวลานั้น
สำหรับประชาชนคนไทย บัดนี้ ยังไร้ความเป็นเอกภาพ ส่วนสำคัญเพราะความแตกแยกแบ่งสีในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จึงไม่สามารถวัดได้ว่าแท้จริงแล้วประชาชนต้องการอะไร กลายเป็นเหตุให้นักการเมืองตัดสินใจลำบากกับคำถามว่า “นายกฯคนใน – คนนอก” เพราะ ไม่ทราบแน่ชัดว่ามวลชนกลุ่มไหน คือตัวแทนที่แท้จริงของ “คนไทย”
ระหว่างฝ่ายเอา – ไม่เอา นายกฯคนนอก
นอกจากนั้น สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ยังหาใช่โค้งสุดท้ายแห่งการตัดสินใจ เพราะยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่า ใครจะขึ้นมาเป็นแคนดิเดทนายกฯคนนอก
“บิ๊กตู่” ชัวร์ หรือมั่วนิ่ม
ขณะเดียวกัน ยังไม่ทราบเลยว่า “ตัวเลือก” ของนายกฯคนในมีใครบ้าง
ความไม่ชัดเจนมากมายขนาดนี้ “จะตีตนไปก่อนไข้” รีบ “ตัดสินใจ” กันไปทำไม
แต่หากอยากจะรู้จุดยืนทางการเมืองของ “นักการเมือง” ย่อมชัดว่า “นักการเมืองเลือกตามประชาชน” ดังนั้น “ประชาชน” จึงควรเป็นฝ่ายตัดสินใจ ร่วมแรง ร่วมใจ สลายความต่าง ผลักดันเจตนารมณ์ ให้กลายเป็นกระแส ที่ยากหยุดยั้งได้
ระบอบประชาธิปไตย เดินได้ มาจากประชาชน หาใช่นักการเมือง
Ringsideการเมือง