เป็นตัวเลขที่น่าตกใจอย่างยิ่ง เมื่อสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดตัวเลขคนว่างงาน ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2559 และมีแนวโน้มว่าจะลดลงอีก โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานภาวะการว่างงาน เดือน ธ.ค.2560 ที่ผ่านมาพบว่า อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1% และมีผู้ว่างงาน 364,000 คน แต่หากมาดูในปี 2561 จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติได้รายงานตัวเลขการว่างงาน เดือน ก.พ.2561 มี 491,000 คน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.3% โดยมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 61,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ซึ่งอัตราว่างงานในขณะนั้นอยู่ที่ 1.1% และเมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.2561 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 16,000 คน ซึ่งอัตราว่างงานเท่ากันคือ 1.3%
บรรดานักศึกษาที่จบใหม่หรือที่กำลังศึกษาอยู่ กำลังเผชิญความเสี่ยง “เตะฝุ่น” และจาสาการที่รัฐบาลเปิดให้มีการใช้บัตรสวัสดิการ รูดปรื้ด พบว่ามีคนที่จบการศึกษระดับปริญญาเอก โท ตรี มีลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก โดยกรณีนี้นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การคัดเลือกคุณสมบัติผู้มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด จากยอดลงทะเบียนทั้งหมด 14.1 ล้านคน เหลือ 11.6 ล้านคน ตัดกลุ่มผู้มีรายได้-เงินฝากเกิน และที่ดินเกินกว่ากำหนด รวมแล้ว 2.5 ล้านราย ขณะเดียวกัน พบว่าผู้ที่มีการศึกษาสูง ทั้งระดับ ดร. มาลงทะเบียนด้วยมากถึง 600 คน และระดับปริญญาโท กว่า 1,000 คน จึงต้องเร่งตรวจสอบว่าคนกลุ่มนี้มีปัญหาอะไร
ส่วนสวัสดิการที่ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จำนวน 7-8 ล้านคน เบื้องต้นกำหนดให้มาลงทะเบียนใหม่ ระยะที่ 2 เพื่อยืนยันตัวตน และน่าจะจ่ายเงินได้ในต้นปี 2561 แต่ต้องพิจารณางบประมาณด้วย ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขด้านต่างๆ ทั้งการทำบัญชีครัวเรือน การฝึกอบรมทำอาชีพให้ความรู้ ต้องมีรายได้ต้องสูงกว่าเดิมในปีถัดไป เพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำตามข้อกำหนด
สำหรับฐานข้อมูลผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติ 11.6 ล้านคน แบ่งเป็นผู้สูงอายุ สัดส่วน 1/3 ของผู้ลงทะเบียน , ผู้พิการ 3 แสนคน , เป็นผู้ไม่มีรายได้สัดส่วน 1/5 ของผู้ลงทะเบียน , เป็นเกษตรกร 4 ล้านคน , รับจ้างอิสระและค้าขาย 3 ล้านคน
นี่คือปัจจัยที่น่าสนใจว่าจากสถิติที่ออกมาเป็นไปได้ว่า ประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะใด เพราะเมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา บรรดาบริษัท ห้าง ร้าน จำเป็นที่จะต้องลดจำนวนคนงานลง โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจอาชีพเสี่ยงตกงานและมาแรงที่สุดประจำปี 2561 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการแรงงานที่มีความรู้และความสามารถด้านเทคโนโลยี การวางระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่ออาชีพ จะมาจากภาวะเศรษฐกิจไทย พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ทำให้หลายธุรกิจต้องปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา
สำหรับ 10 อาชีพเสี่ยงตกงานในปี 2561 ประกอบด้วย
1. อาชีพตัดไม้ ช่างไม้ 2. พ่อค้าคนกลาง 3. อาชีพย้อมผ้า 4. บรรณารักษ์ และพนักงานไปรษณีย์ส่งจดหมาย5. พนักงานขายสินค้าหน้าร้าน 6. อาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าโหล 7. ช่างทำรองเท้า 8. เกษตรกร และครู-อาจารย์ 9. แม่บ้านทำความสะอาด 10. นักหนังสือพิมพ์ นิตยสาร และผู้สื่อข่าวภาคสนาม
จากนี้ไปคือโจทยืของรัฐบาลในการทำนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ให้เป็นจริง ดังคำโฆษณา พร้อมไปกับประคองสภาวะการมีงานทำของคนในชาติให้สมดุลกัน
เพราะหากเกิดการแปรผกผัน ไทยแลนด์เป็น 4.0 นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น แต่คนตกงานเพียบ
อนาคตของ “ประเทศไทย” ย่อมดูไม่จืด
Ringsideการเมือง