หน้าแรก Article “คนรุ่นใหม่” อันไร้พลัง

“คนรุ่นใหม่” อันไร้พลัง

0
“คนรุ่นใหม่” อันไร้พลัง
Sharing

ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขั้นในอนาคต ว่ากันว่า จะมีประชาชน ซึ่งมีโอกาสหย่อนบัตรครั้งแรกได้มีส่วนร่วมประมาณ 5 ล้านคน นับเป็นจำนวนที่มากโข หากทั้ง 5 ล้านเทคะแนนให้พรรคหนึ่งพรรคใด พรรคนั้นจะได้ ส.ส.เข้าสภาทันที 71 คน จาก 500 คน

จึงไม่น่าแปลกใจที่พรรคการเมืองจำนวนหนึ่ง เลือกเจาะแต้มจากกลุ่มคนรุ่นใหม่

ทั้งพรรค “เกรียน” ของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ พรรค “อนาคตใหม่” ของ 2 หล่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล รวมทั้งพรรค NGO อย่างพรรค “สามัญชน” ไม่นับรวมพรรคเล็ก พรรคน้อยที่แอบเหล่คะแนนวัยใส

แต่จากประวัติศาสตร์ ต้องบอกว่าเป็นงานช้าง ที่มักจะทำเอาเหล่าผู้มีความฝัน สิ้นหวัง

ย้อนไปในปี พ.ศ.2559 ในการทำประชามติให้ชาวอังกฤษตัดสินใจว่าจะอยู่ หรือจะแยกจาก “สหภาพยุโรป” หรือที่เรียกกันว่า BREXIT

ชัดเจนว่า กลุ่มคนอายุน้อยกว่า ที่มีอายุระหว่าง 18 – 40 ปี มีความปราถนาต้องการจะอยู่กับ EU ต่อไป ตามกระแสโลภาภิวัฒน์ เชื่อมั่นในโอกาส ที่มาจากตลาดอันเปิดกว้าง

ขณะที่คนอายุ กว่า 40 ปี ปฏิเสธที่จะอยู่ร่วมชาติอื่นในยุโรป ด้วยหัวคิดอนุรักษ์นิยม ที่ไม่ต้องการเห็นอังกฤษ ต้องใช้เงินช่วยเหลือชาติอื่นอีกต่อไป พร้อมกับหวังว่าจะได้เงินที่เคยอุดหนุนอียู มาใช้ในการพัฒนาสวัสดิการด้านสุขภาพ

ก่อนการโหวตจริง ปรากฎว่าฝ่ายโหวตอิน สูงมากทะลุ 50% เกือบจะแตะ 60% ฝ่ายคนหนุ่มสาวย่ามใจสุดขีด ถึงขั้นคิดสโลแกนว่า “A Vote for Remain Is a Vote for Love” หรือความพยายามจะบอกว่า พวกตน โหวตเพื่อมอบความรักให้กับ EU ที่มีหลายชาติ –ศาสนา ส่วนคนรุ่นเก๋าทั้งหลายกำลังจะโหวตเพื่อสนองความเกลียดชัง หรือเป็นพวก “เหยียดผิว” “เหยียดเชื่อชาติ”

ฝ่ายพลังคนแก่เก็บความแค้นไว้ในใจ ที่ถูกกล่าวหาว่าพวกเขา Discriminate และมีการตอบโต้น้อยมาก

ยิ่งนานวันเข้าฝ่ายวัยโจ๋ ยิ่งมีคะแนนนำ โพลทุกสำนักฟันธงตรงกันว่า อังกฤษจะเป็นส่วนหนึ่งกับ EU ตราบนานเท่านาน

แต่เมื่อสิ้นสุดวันประชามติ ปรากฏว่าผิดถนัด กลายเป็นฝ่ายเก๋าโจ๋ ต้องพ่ายให้กับฝ่ายโก๋แก่ย่อยยับ อังกฤษถึงคราวแยกออกไปจาก EU

ส่วนสำคัญเพราะฝ่ายคนหนุ่มสาว เมื่อเวลาต้องตัดสินใจ ปรากฏว่าพวกเขาเลือกที่จะนอนอยู่บ้านเสีย มีเพียง 53% เท่านั้น ที่ออกมาลงคะแนน

ขณะที่คนรุ่นโก๋แก่ 65% จากทั้งหมด กลับลากสังขารไปลงประชามติ บางคนต่อคิวยาวถึง 2 ชั่วโมง เพื่อที่จะใช้เวลาในคู่หาเพียง 5 นาทีเท่านั้น คาดกันว่าอีก 35% ที่ไม่มา น่าจะมาจากปัญหาที่หนักหนาสาหัสจริงๆ

สำหรับประเทศไทย เราเคยมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งพรรคพลังธรรมลงสมัครเลือกตั้งในเดือนกันยายนปีพุทธศักราช 2535 หรือสิ้นสุดยุคพฤษภาทมิฬ ต้องยอมรับว่า พรรคพลังธรรม มาแรงมาก เพราะตัวพลตรีจำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคเป็นบุคคลสำคัญในการโค่นรัฐบาล รสช. ที่ส่งต่อานิสงค์ให้กับลูกพรรค ซึ่งประกอบไปด้วยคนรุ่นใหม่ในยุคนั้น ทั้ง ดร.ทักษิณ ชินวัตร คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายอริศมันต์ พงษ์เรืองรอง หรือแม้แต่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ที่คาดกันว่าน่าจะโกยคะแนนในสภาอย่างถล่มทลาย เพราะชื่อชั้นทันสมัย ได้ใจคนรุ่นใหม่

แต่เอาเข้าจริง กลับกลายเป็นพรรคอันดับ 5 เป็นรองพรรคที่อุดมไปด้วยตัวเก๋าเกมอย่างประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคชาติไทย พรรคชาติพัฒนา เป็นต้น สร้างความสะเทือนใจให้กับเหล่าสมาชิกพรรค และผู้นำพรรคเป็นอย่างยิ่ง

ก่อนที่ต่อมาพรรคพลังธรรมจะแตก เมื่อ ดร.ทักษิณ ปฏิเสธเดินไปกับพรรค พร้อมนำสมาชิกจำนวนหนึ่งออกไปตั้งพรรคไทยรักไทย ที่แม้จะเป็นพรรคใหม่ แต่อุดมไปด้วยพวกหน้าเดิม หาใช้ “วัยใส” อีกต่อไป

ข้อเท็จจริง ที่คนรุ่นใหม่ ยังเป็นพลัง “กระจิดริด” ทางการเมืองนั้น สะท้อนผ่านภาพในสภา ซึ่ง “สวีเดน” เป็นประเทศที่มี ส.ส.อายุไม่เกิน 30 ปี มากที่สุดในโลก ยังคิดเป็นสัดส่วนแค่ 12% ของทั้งสภาเท่านั้น

สำหรับประเทศไทยเอง ความกระตือรือร้นทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ อยู่ในระดับที่น่ากุมขมับ

การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ขับเคลื่อนโดยกลุ่มคนที่มีอายุไม่ถึง 30 ปี แต่แนวร่วมกลับเป็นคนรุ่นเก่าเกือบ 100%

ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร แห่งคณะมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ เคยกล่าวไว้ในรายการ Ringsideการเมืองว่า

“ประเทศไทย เป็นประเทศโตเดี่ยว ความเจริญกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ เมื่อคนรุ่นใหม่ไหลเข้ากรุงเทพ และเขาได้รับการตอบสนองจากความเจริญทั้งหลาย เขาจึงไม่จำเป็นต้องเรียกร้องอะไรอีกต่อไป กลับกันคนต่างจังหวัด ที่ล่วงผ่านวัยรุ่น ลงหลักปักฐาน ไม่สามารถขยับไปไหนได้ และใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก คนกลุ่มนั้นต่างหาก คือพลังทางการเมืองที่แท้จริง”

ดังนั้น การไปคาดหวังว่า “คนรุ่นใหม่” จะเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย จึงเป็นเรื่องที่เป็นเพียงความฝันเสียมากกว่า

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่