นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาท (3เดือน)ว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังเร่งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ได้รับความเดือดร้อนให้รัดกุมและเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โชคดีที่กระทรวงการคลังมีพันธมิตรกว่า 10 หน่วยงานที่ช่วยกันตรวจสอบ และระบบ AI ที่ทันสมัยช่วยในการดำเนินงาน ซึ่งล่าสุดได้มีการเปิดเผยกลุ่มอาชีพที่ได้ผ่านการคัดกรองเบื้องต้นจำนวน 4 กลุ่มอาชีพคือ มัคคุเทศก์ ผู้ค้าสลาก คนขับรถแท็กซี่ และวินมอเตอร์ไซด์ ซึ่งตนขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนว่า อาชีพทั้ง 4 กลุ่มเป็นอาชีพที่มีการลงทะเบียนข้อมูลการประกอบอาชีพไว้ชัดเจนที่สุด อาทิ มัคคุเทศก์ มีข้อมูลยืนยันจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คนขับรถสาธารณะทั้งแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซด์ มีการลงทะเบียนไว้กับกรมขนส่งทางบก ทำให้ AI สามารถคัดกรองข้อมูลของคนกลุ่มนี้ออกมาได้ง่ายและเร็วกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 4 กลุ่มนี้จะได้สิทธิพิเศษรับเงินก่อนกลุ่มอาชีพอื่นๆ ทั้งนี้ การยกตัวอย่าง 4 กลุ่มอาชีพดังกล่าวเพียงต้องการชี้ให้เห็นว่า ระบบการคัดกรองของโครงการมีความรัดกุม รวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อเป็นกรณีที่มีข้อมูลครบถ้วน สำหรับอาชีพอื่นๆ ก็เช่นกัน หากการกรอกข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชนชัดเจน สามารถระบุให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างชัดเจน หรือมีหลักฐานประกอบพร้อมให้มีการตรวจสอบได้ กรณีที่ภาครัฐต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ยิ่งจะทำให้การพิจารณาอนุมัติเงินเยียวยาของประชาชนรายนั้นๆ สะดวก และง่ายดายมากขึ้นตามไปด้วย
นายธนกร กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของการเรียกร้องให้ระบบลงเบียนสามารถแก้ไขข้อมูลในการลงทะเบียน หรือยกเลิกการลงทะเบียนได้นั้น กระทรวงการคลัง และธนาคารกรุงไทย กำลังเร่งปรับปรุงระบบให้สามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไข หรือยกเลิกการลงทะเบียนได้ โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จเปิดให้ประชาชนแก้ไขหรือยกเลิกได้ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ซึ่งหากไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนอัพเดทแก้ไข เปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ ก็อาจจะทำให้ผู้เดือดร้อนจริงๆ ต้องเสียสิทธิ์ไปอย่างน่าเสียดาย ขณะที่คนที่ตั้งใจทำผิดเงื่อนไขนั้น อาจจะมีความผิดอาญาด้วย นอกจากนั้น สำหรับคนที่คาดว่าจะไม่มีสิทธิ์รับเงินเยียวยาตามโครงการนี้ รัฐบาลยังมีช่องทางช่วยเหลืออื่นๆ อีกมาก อาทิ เงินเยียวยาเร่งด่วนผ่านธนาคารออมสิน หรือมาตรการช่วยเหลือที่เตรียมจะออกมาใหม่ ซึ่งจะดูแลเยียวยาทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และ เกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนกลุ่มใหญ่ของประเทศอย่างต่อเนื่อง