ถ้ามองตามไทม์ไลน์ พอมองออกว่าการเลือกตั้งเป็นไปตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศไว้ทุกประการหากไม่มีอุบัติเหตุกลางทาง
เสมือนเรือแป๊ะที่กำลังเทียบท่า แต่ความพิศดารบังเกิด เมื่อมีมือดีดึงเรือแป๊ะออกจากฝั่ง โดยการอ้างความดีงามของตัวเองเพราะห่วงพรรคการเมืองเก่าเตรียมตัวไม่ทัน เป็นความดีความชอบไป
เพียงแค่นี้กระแสการยื้ออำนาจก็ไปตกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.ทันทีเพราะก่อนหน้านั้นอุตส่าออกมาแถลงข่าวว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 แถมวัน เวลา ที่ประกาศออกมานั้นเป็นการประกาศต่อสาธารณะ ต่อหน้านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา
การประกาศในครั้งนั้นส่งผลให้พลเอกประยุทธ์ ได้เครดิตไปพอสมควร
พอมาเจอคุณพ่อรู้ดี คุณแม่รู้มาก รวมทั้งผู้ปราถนาดีที่น่าปวดหัว ออกมาเล่นเกมยืดอายุการเลือกตั้งไปอีก 90 วัน ส่งผลให้คำพูดของบุคคลที่ทรงอำนาจมากที่สุดในประเทศไทย
เป็นคำพูดที่เชื่อถือไม่ได้เลย
ไม่นับความพยายามดึงเกมลากยาวของสมาชิกสถานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช.กับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่เล่นเกมตีความกฏหมายเข้าให้งานนี้ไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรีจะเอาตัวรอดได้นานแค่ไหน เพราะบรรดาคนที่ตัวเองตั้งมาดันมาวางกับดักตัวเอง
ล่าสุด พลเอกประยุทธ์ ยอมรับว่า
“รัฐบาลได้รับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มาแล้ว ยังมีเวลาการพิจารณาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ จนถึงวันที่ 12 เม.ย. วันนี้ให้ฝ่ายกฎหมายไปตรวจสอบตามปกติอยู่ว่าควรจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาหรือไม่ แต่กำหนดการเลือกตั้งยังอยู่ในโรดแมป ถ้ามีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่น่าจะใช้เวลานานเกินไป ขอให้ศาลรับเรื่องเหล่านี้ไปเป็นประเด็นสำคัญ ขอให้ช่วยรัฐบาลให้อยู่ในกรอบโรดแมปด้วย
ร่างฉบับนี้มีปัญหาอยู่สองอย่างคือ ประเด็นให้ช่วยผู้พิการกาบัตร ที่หลายคนมองว่าไม่ควรจะเป้นประเด็น เพราะด้วยจำนวนคนพิการที่ไม่สามารถกาบัตรได้เลยนั้น มีน้อยมาก เพราะคนตาบอด ในกรณีใช้มือไม่ได้ ก็อนุโลมให้ใช้อวัยวะอื่นทดแทน แต่เมื่อเป็นประเด็นก็ต้องไปหารือกันว่าผิดหรือไม่ผิด ให้ไปทบทวนกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ส่วนเรื่องการละเมิดสิทธิการเป็นข้าราชการการเมือง หากไม่ไปเลือกตั้งนั้น ถ้าใครคิดว่าไม่แฟร์ กฎหมายเปิดช่องให้ร้องเรื่องกันในภายหลัง”
จับสัญญาณจาก “บิ๊กตู่” ทุกอย่างยังคงดำเนินไปตามโรดแมป
ไม่มีเรื่องทฤษฎีสมคบคิดตามที่สื่อมวลชนตั้งคำถาม
ถึงกระนั้นก็ตาม ตามทฤษฏีคนจ้องกับคนระวัง คนจ้องจะหาโอกาสในรการโจมตีหรือทำร้ายได้มากกว่า ดังนั้นการเลือกตั้งจะโมฆะหรือไม่นั้นมันหาสาเหตุให้การเลือกตั้งโมฆะได้ทุกประเด็น
ในอดีตประเด็นเพียงแค่ หันบั้นท้ายออกในช่วงการกาบัตรก็เป็นปัญหาว่าไม่เป็นความลับก็ส่งผลให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะได้
และครั้งที่ 2 คือการเลือกตั้งเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ก็มีอันต้องโมฆะอีกครั้งด้วยสาเหตุที่ว่าไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ทั่วประเทศพร้อมกัน เป็นผลให้มีการร้องศาลรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มีผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
ทั้งที่สาเหตุไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ มาจากการชุมนุมของกลุ่มกปปส.ที่ไปปิดกั้นหน่วยเลือกตั้ง หรือ ปิดคูหาเลือกตั้ง เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการจัดการเลือกตั้งไม่ได้พร้อมกันทั่วประเทศ
สุดท้ายก็เป็นผลทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการยื่นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ
สำหรับการเลือกตั้งในอนาคต แม้ยังไม่เกิดขึ้น แต่หากศึกษาจากอดีต มาเทียบกับปัจจุบัน ที่การเลือกตั้งส่อแวววุ่นวุ่นตั้งแต่ยังไม่เริ่ม ล่าสุด มีการโหวตยืดเลือกตั้งไปแล้ว ไหนจะยื่นศาลตีความกฎหมายลูก และความไม่ชัดเจนของกฎหมายรัฐธรรมธรรนูญที่ระบุว่า
เมื่อกฎหมายสำคัญ 4 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ จะต้องมีการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน
แต่ไม่มีใครในประเทศไทยรู้ว่าเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน หมายความว่าอย่างไร สามารถตีความได้สองแบบ คือ1.หย่อนบัตรเลือกตั้งใน 150 วัน หรือ 2.หย่อนบัตรและประกาศผลให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน
ความงงงวยตรงนี้ ก่อให้เกิดความชัดเจนว่า โอกาส “โมฆะ” ยังแง้มรอไว้อยู่
Ringsideการเมือง