นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊ก “สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” ชี้แจงกรณียอดตรวจโควิดขจองประเทศไทย ระบุว่า ประเทศไทยตรวจโควิดมาแล้ว 71,860 ตัวอย่าง ไม่ใช่เพียง 25,071 ตัวอย่าง
ถึงวันที่ 6 เมษายน 2563 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิดสะสมรวม 2,220 ราย เสียชีวิต 26 ราย หายป่วยแล้ว 793 ราย คงเหลือผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ 1,401 ราย เป็นผู้ป่วยหนัก 23 ราย
วันที่ 6 เมษายนมีผู้ป่วยใหม่เพียง 51 ราย จึงมีคำถามว่า มีรายงานผู้ป่วยน้อยเพราะเราตรวจ RT-PCR Test หาผู้ป่วยโควิดน้อยใช่หรือไม่
ใน worldometers.info ให้ข้อมูลว่่า ประเทศไทยตรวจ test ไปทั้งสิ้น 25,071 ตัวอย่าง คิดเป็น 359 tests ต่อประชากร 1,000,000 คน พบผู้ป่วย 2,220 คน (คิดเป็น 8.85%)
ขณะที่เกาหลีใต้ ตรวจไป 461,233 ตัวอย่าง คิดเป็น 8,996 tests ต่อประชากร 1,000,000 คน พบผู้ป่วย 10,331 คน (คิดเป็น 2.24%)
เยอรมัน ตรวจไป 918,460 ตัวอบ่าง คิดเป็น 10,962 tests ต่อประชากร 1,000,000 คน พบผู้ป่วย 100,375 คน (คิดเป็น 10.9%)
ถ้าดูจากข้อมูลข้างต้น ประเทศไทยตรวจน้อยกว่าเกาหลีใต้ 25 เท่า (ต่อประชากร 1,000,000 คน) และน้อยกว่าเยอรมัน 30.5 เท่า (ต่อประชากร 1,000,000 คน)
.
ไทยพบผู้ป่วยจากการตรวจ Test มากกว่าเกาหลีใต้ถึง 4 เท่า และเยอรมันพบผู้ป่วยจากการตรวจ Test มากกว่าเกาหลีใต้ถึง 5 เท่า ซึ่งแสดงว่า ทั้งไทยและเยอรมันยังตรวจไม่ได้กว้างขวางเท่าเกาหลีใต้
……………………………….
ผมถามแหล่งข่าวในกระทรวงสาธารณสุขว่า ทำไมเราจึงตรวจน้อย ทั้งๆที่การตรวจหาผู้ป่วยได้เร็ว จะช่วยหยุดการระบาดของโรคในชุมชน และยังช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้น เพราะผู้ป่วยได้รับยาเร็ว อัตราตายจะน้อยลง
แหล่งข่าวให้ข้อมูลว่า ปัญหาการตรวจน้อยเกิดขึ้นเพราะสาเหตุ 4 ประการ
1. ปริมาณของห้องแล็บมีอยู่น้อยในระยะแรก และส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพ แต่ปัจจุบันมีห้องแล็บทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชนที่สามารถตรวจได้แล้ว 77 แห่ง (สามารถตรวจได้วันละประมาณ 20,000 Tests) แล้วจะขยายเป็น 107 แห่งภายในเดือนเมษายน
2. การตั้งเกณฑ์ผู้เข้าข่ายในการตรวจ Test ซึ่งเมื่อก่อนมีหลักเกณฑ์ที่เฉพาะเจาะจง ผูกเป็นเงื่อนไขหลายข้อ แต่วันนี้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ลงแล้วเพื่อให้ตรวจได้กว้างขวางขึ้น ทำให้ผุ้ไม่มีไข้ แต่มีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ และมีประวัติสัมผัสกลุ่มเสี่ยง ก็อยู่ในเกณฑ์เข้ารับการตรวจ Test ได้
3. ความไม่ชัดเจนของค่าใช้จ่ายในการตรวจ Test ทำให้ผู้ที่สงสัยว่า ตนป่วยเป็นโรคโควิดหรือไม่ ต้องยินยอมเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ Test กับภาคเอกชน
บัดนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ตั้งงบประมาณอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจ Test สำหรับผู้เข้าเกณฑ์รายละ 3,000 บาท โดยจะจ่ายให้ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ผู้รับการตรวจจึงไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ว่า เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ
4. ก่อนหน้านี้ไม่มีการรวมศูนย์ข้อมูลผู้มารับการตรวจ Test ทั้งหมดไว้ที่เดียว มีแต่ข้อมูลผู้ตรวจ Test แล้วให้ผลบวกซึ่งต้องแจ้งมายังกรมควบคุมโรคตามกฎหมายเท่านั้น
ดังนั้น จำนวน Test ที่แจ้งกันเป็นทางการจึงน้อยกว่าความเป็นจริงมาก เฉพาะส่วนราชการเองก็ยังรวบรวมได้ไม่ครบถ้วน ส่วนภาคเอกชนยิ่งไม่มีข้อมูลเลย
.
ปัจจุบัน สำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รับเป็นเจ้าภาพในการรวบรวมตัวเลขการตรวจ Test ทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เราทราบตัวเลขที่แท้จริง
…………………………………
หลังจากได้แก้ปัญหาทั้ง 4 ประการแล้ว จากการรวบรวมข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า จำนวนตัวอย่างที่ได้รับการตรวจโควิด ด้วย RT-PCR ตั้งแต่เดือนมกราคม – วันที่ 4 เมษายน 2563 มีการตรวจไปแล้ว 71,860 ตัวอย่าง
คิดเป็น 1,029 tests ต่อประชากร 1,000,000 คน น้อยกว่าเกาหลีใต้ 8.7 เท่า (จากตัวเลขเดิม 25 เท่า) และน้อยกว่าเยอรมัน 10.6 เท่า (จากตัวเลขเดิม 30.5 เท่า) ซึ่งหากเราเร่งตรวจมากขึ้น หลังจากแก้ปัญหาทั้ง 4 ประการไปแล้ว ช่วงห่างจะแคบลง
สรุปแล้ว ไทยพบผู้ป้วยจากการตรวจ RT-PCR 3.09% (จากตัวเลขเดิม 8.85%) เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ 2.24% และเยอรมัน 10.9%
ถือได้ว่า การตรวจคัดกรองของไทยทำได้กว้างขวางพอสมควร ใกล้เคียงกับเกาหลีใต้