“ชาวสวนยางพ้อ รัฐไร้งบช่วยเหลือ”
“ชาวนาพ้อ ถูกทอดทิ้ง รัฐไม่ปล่อยน้ำทำนาปรัง”
เป็นเรื่องที่สวนกับกระแส 4.0 ที่มาแรงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ “บ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้โอกาสบริหารประเทศ ด้วยเพราะเป็นนโยบายความหวังที่คาดกันว่าจะพลิกโฉมประเทศไทย ให้หลุดจากประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยการสร้างนวัตรกรรม และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือทุกภาคส่วน
เริ่มมีคำว่า startup, syntec มากระแทกหูคนไทย
หากอ่านกันตามตัวอักษร นับว่าสวยหรู แต่หากว่ากันตามความเป็นจริงต้องยอมรับว่านโยบาย 4.0 ของไทยเป็นผลงานที่มีความน่าสงสัย เรื่องความเป็นรูปธรรม
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เคยกล่าวไว้ว่า “ต้องชื่นชมว่าคนทำโฆษณาให้รัฐบาลเก่งมาก จูงใจให้คนไทยไปลงทุนกับการเป็น 4.0 อยากทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งที่ยังไม่ทราบดีด้วยซ้ำว่าคืออะไรกันแน่ สุดท้ายมีที่รอดกลับมาแค่ 10% เท่านั้น”
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์อธิบายว่า การทำธุรกิจ Startup คือ การที่ประชาชนต้องขายนวัตกรรมเป็นหลัก ซึ่งมาจากพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ดี แต่สำหรับประเทศไทยการศึกษาด้อยคุณภาพ อยู่อันดับท้ายของอาเซียน แล้วจะเอาไอเดียที่ไหนไปสร้างนวัตกรรม สุดท้ายก็ผลิตของซ้ำกัน มาขายในอินเตอร์เน็ต แล้วก็หลงไปว่ากำลังทำธุรกิจ Startup ทั้งที่มันเป็นแค่การขายของออนไลน์ กลายเป็นว่า 90% ของคนที่ไปลงทุน อยู่ในสภาวะขาดทุน ล้มเลิกกิจการ ขอแนะนำให้รัฐไปพัฒนาเรื่องการศึกษาก่อนจะก้าวไปสร้างฝันเรื่อง Startup
เป็นความเห็นที่ตรงไปตรงมา สอดคล้องกับ นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในเชิงแนวคิด นโยบาย Thailand 4.0 ถือเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศที่ถูกต้อง เนื่องจากประเทศไทยต้องการนวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนา แต่เท่าที่ติดตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือนโยบายนี้มีภาพกว้าง แต่ขาดรายละเอียด
นายสมชัยเสริมว่า แม้รัฐบาลจะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีไว้ค่อนข้างมาก ผ่าน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มาช่วยผลักดันนโยบายนี้ ทั้งเรื่องของ Cluster, Super Cluster หรือต่อยอด Eastern Seaboard เพื่อดึงทุนต่างชาติให้เข้ามา แต่พบว่าภาคเอกชนยังไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร
“ส่วนที่สำคัญคือ แม้ว่ารัฐบาลจะพูดเรื่อง 4.0 แต่โครงสร้างพื้นฐานของไทย ยังไม่เอื้ออำนวย ทั้งเรื่องของบุคลากร กฎหมาย สิ่งอำนวยความสะดวก ล้วนติดขัดไปหมด”
ความตลกของนโยบาย 4.0 สะท้อนผ่าน ดร.ปริญ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์(บล.) ซีแอลเอสเอ(ประเทศไทย) ที่เคยให้สัมภาษณ์กับรายการ Ringsideการเมืองว่า
“หลายคนกำลังเข้าใจผิดว่าการเป็นไทยแลนด์ 4.0 หรือการให้ไทยเป็นผู้ส่งออกนวัตกรรม ต้องไปให้ความสำคัญกับความรู้เชิงเทคโนโลยี ธุรกิจออนไลน์ ในฐานะของผู้ผลิต แต่ความเป็นจริงคือ การที่เราจะไปสู่การเป็นผู้ผลิต เป็นเรื่องยากมาก แต่สิ่งที่เราทำได้เลยคือ เราจะเป็นผู้ใช้ และสนับสนุนการใช้ ให้กระจายไปทั้งประเทศ ขณะเดียวกันก็แก้ไขกฎหมายให้สอดรับความเปลี่ยนแปลง ดีกว่าการไปลงทุนสร้างใหม่ ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล
การค้าขายใน FB มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท แต่เราไม่มีกฎหมายรองรับ สรุปคือไปเก็บภาษีเขาไม่ได้ นี่คือเหตุผลว่า ทำไม เราต้องปฏิรูปกฎหมาย กับระบบข้าราชการก่อน เอาแค่เรานำของที่มีอยู่ มาปรับใช้ เราก็เป็น 4.0 แล้ว”
ชัดเจนว่านโยบาย 4.0 เหมือนเป็นนโยบายที่ดี แต่การตั้งโจทย์ให้ “นวัตรกรรม” เป็นธงนำ ส่งผลให้นโยบายที่เกิดขึ้นไม่สอดรับกับ “ของเดิม” ที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย
ที่น่ากลัวคือในขณะที่ภาครัฐ มุ่งให้สร้างผลผลิตใหม่ แต่ชาวไร่ ชาวนา ที่เคยเป็นกลจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทย กำลังถูกทอดทิ้ง ปรากฏอารมณ์ตัดพ้อให้เป็นข่าว แต่รัฐหาได้ใส่ใจ เพราะต้องผันงบไปเดิมพันกับอนาคตใหม่ ที่ยังตอบไม่ได้ว่าจะ มืดมัว หรือสดใส สนองนโยบาย 4.0
ขอบคุณข้อมูล
“คมข่าว”
“The standard”
Ringsideการเมือง