กระแสประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานในประเทศไทยอีกคำรบ หลังพรรคการเมืองน้อยใหญ่ ประกาศไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอก ล่าสุดเป็นคิวของพรรคประชาธิปัตย์ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคเล่นบทโหด ใครหนุน “บิ๊กตู่” ให้ไปอยู่พรรคอื่นได้เลย ถึงขั้นที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงขั้นต้องออกมาปราม “ให้เกียรติกันบ้าง”
เท่ากับว่ามีพรรคที่ประกาศจุดยืนกันชัดเจนไปแล้ว 2 พรรค คือพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์
เป็นพรรคใหญ่ทั้งคู่ ต่างกันเพียงจุดประสงค์
พรรคแรก เกมบังคับเล่น ฝ่ายทหารไม่เอาด้วยแต่ต้น มีข่าวขอจับมือมาหลายครั้ง แต่ก็ถูกสะบัดไม่ตรีขาดสะบั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องไว้เยื่อใย สู้ดี โชว์จุดขายต้านอำนาจนายกฯคนนอกกันให้ชัด เล่นไปตามน้ำ ตอกย้ำภาพตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตย
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ต้องยอมรับว่ามาแปลก ที่หัวหน้าพรรคประกาศจุดยืน และหาใช่โดดเดี่ยวผู้น่ารักแน่นอน
ด้วยเพราะฝ่ายที่เคยออกโรงหนุนทหารอย่าง “รังสิมา รอดรัสมี” ปัจจุบันถอยฉาก ปิดปากเรื่องทหาร
ส่วนฝ่าย กปปส. ภายในพรรค ก็มิได้หืออือ กับบทโหดของนายอภิสิทธิ์ แต่ประการใด
การประกาศไม่เอานายกฯคนนอก ถือเป็นจุดยืนที่ดี ในระบอบประชาธิปไตย แต่บ้านนี้ เมืองนี้ การเมืองเป็นเรื่อง “ลับ ลวง พราง” หาใช่เล่นกันในสภา แต่ยังมี “กลุ่มอำนาจนอกสภา” ร่วมวงอยู่เสมอ
แต่ละกลุ่ม หาใช่จะเออออกับคนของพรรคการเมืองเสียทุกเรื่อง แม้ปากจะอ้างว่าศรัทธาระบอบประชาธิปไตยก็ตาม แต่หาก “ไม่ปลื้ม” กันขึ้นมา ก็พากันล้มกระดานลากทหารออกมายึดอำนาจเสียง่ายๆ
กลุ่มนักวิชาการ สายอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่าง กลุ่มแพทย์พยาบาล กลุ่มนักธุรกิจ ชื่อชั้นดูนิ่มนิ่ม หาใช่ธรรมดาเสียเมื่อไร แต่ละกลุ่มเคยสำแดงเดชกันมาแล้วทั้งนั้น ปี 2557 ก็เป็น 3 กลุ่มนี้ ในนามของเครือข่ายต่างๆ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมากดดันให้ “ยิ่งลักษณ์” ยุบสภา แสดงพลังสะเทือนสังคม
เป็นภาพสะท้อนของอำนาจอันสลับซับซ้อนของการเมืองไทย เช่นที่ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์กับรายการ Ringsideการเมือง ว่า
“นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ 3 ประการ 1. ต้องตั้งใจจริง 2. ต้องไม่มีข่าวเสีย 3. ต้องเป็นที่ยอมรับ จากทุกขั้ว ทุกฝ่าย”
ก่อนลงท้ายว่า “ณ ปัจจบัน พลเอกประยุทธ์ มีความเหมาะสม ขณะที่คนของฝ่ายการเมือง ก็มีโอกาสมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หลายคนมีคุณสมบัติใกล้เคียง แต่จะติดที่การยอมรับของแต่ละฝ่าย”
การยอมรับ คือ ปัญหาของนายกรัฐมนตรีคนใน
ด้วยธรรมชาติการเมืองไทย ที่ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะ 2 พรรคใหญ่ ที่มีโอกาสทำทุกวิถีทางเพื่อขัดกันเอง อันจะนำพาให้มวลชนแต่ละฝ่าย ต่อต้านการเข้ามาของฝ่ายตรงข้าม จุดดังกล่าวคือทางตันแห่งการเข้ามา “นายกฯคนใน” ไม่นับรวมกลุ่มอำนาจฝ่ายความมั่นคง ที่มีความชิงชังฝ่ายหนึ่งเป็นพิเศษ
มองตามทฤษฎี โอกาสจึงเป็นของ “นายกฯคนนอก” มากกว่า
แต่เมื่อ 2 พรรคใหญ่ปฏิเสธ การเข้ามาเป็นนายกฯคนนอก จึงเต็มไปด้วยขวากหนาม แต่อย่าลืมว่าประเทศไทย มีไพ่ตาย คือ “ปฏิวัติ” เป็นอาวุธ สำหรับพรรคเพื่อไทย ถึงเวลานั้น แน่นอนว่า ยืนกรานไม่หนุน “คนนอก” ไม่กลัวปฏิวัติ เพราะเจ็บจนชิน
แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศไม่เอานายกฯ คนนอกเสียแต่วันนี้ จะกลายเป็นส่วนสำคัญของการพาบ้านเมืองไปถึงทางตัน ปิดช่องพลิกเกมจับขั้วอำนาจนอกสภา หาทางพาชาติเดินหน้าตามรัฐธรรมนูญ อดเล่นบทพระเอกตามถนัด
เปิดทางให้พรรค SME ทั้งหลาย กลายเป็นทางออกของชาติแทน อาจไม่สวยหรู แต่ย่อมดีกว่า “เผด็จการเต็มใบ” ที่ประชาชนเข็ดขยาด
แต่หากพลิกลิ้น ย่อมเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ “ดีแต่พูด”
การประกาศของนายอภิสิทธิ์ จึงไม่ต่างจาก “บีบคอตัวเอง”
Ringsideการเมือง