อภิปรายไม่ไว้วางใจ 2564 จบสิ้นลงไปแล้วแต่สิ่งที่อยากชวนขบคิดกันต่อ คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจเราที่ผ่านมาทั้งฝ่ายค้าน – รัฐบาล ได้คำนึงถึงหลักการกติกากันมากน้อยแค่ไหน หรือ ต้องการแค่เอาชนะกันในเกมการเมือง เอาความมัน เอาความสะใจ หิวแสง หรือ กระหายยอดไลน์ โดยไม่คำนึงถึงหลักการมารยาทในการอภิปรายอะไรทั้งสิ้น คำว่า“รัฐสภา”ในภาษาอังกฤษว่า “Parliament” มีรากศัพท์มาจากคำว่า“parle” ในภาษาฝรั่งเศส หมายถึง การพูดในสถานที่จัดไว้ให้พูด หรือ อภิปราย ถกเถียง แสดงข้อมูล รวมถึงการนำเสนอความคิดและเหตุผลในการถกเถียง
แต่เมื่อมองกลับมาในสภาไทยมีคำถามใหญ่ คือ สส. ผู้ทรงเกียรติของเรา อภิปราย ถกเถียง แสดงข้อมูลในการถกเถียงตั้งอยู่บนความคิดและเหตุผลที่ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน เพราะรัฐสภาไม่ใช่เวทีการพูดเท่าที่จะมีปากให้พูด โดยไม่ผ่านสมอง แต่การพูดในสภา คือ การสื่อสารการเมืองที่เป็นทางการกับประชาชนในฐานะที่ตนเองทำหน้าที่แทนประชาชนในสภา เพราะฉะนั้นการพูดในสภาต้องมีความรับผิดชอบให้เกียรติต่อสภาและเคารพเกียรติแห่งประชาชน แค่ต้องการแค่เอาชนะกันในเกมการเมือง เอาความมัน เอาความสะใจ หิวแสง กระหายยอดไลน์ ยอดแชร์ ไม่ได้ สภาไม่ใช่ face book – twitter อย่างที่ สส.หลายท่านเข้าใจผิด
การแสดงความรับผิดชอบให้เกียรติต่อสภาและเคารพเกียรติแห่งประชาชน อย่างน้อยที่สุด สส.ผู้ทรงเกียรติควรมีมารยาทในการพูดตามข้อบังคับการประชุมสภา (โปรดอ่านและทำความเข้าใจในเจตนารมณ์ของข้อบังคับ) ข้อ 69 วรรคสอง ระบุว่า “ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้าย หรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น”
อย่างที่ นายชวน หลีกภัย ประธานสภา กล่าวไว้ “ก็เห็นว่าวิธีการอภิปรายบางคน มีถ้อยคำก้าวร้าวรุนแรงดูถูกเหยียดหยาม ก็มีมูลความจริงอยู่ สำหรับบางคนไม่ใช่ทั้งหมด ต้องยอมรับว่าเหมือนบางคนมีเจตนาจะมาแข่งกัน ใช้ถ้อยคำที่แรงกว่ากัน ก็ดีที่ว่าห้ามแล้วฟัง แต่คำเหล่านั้นก็บันทึกอยู่ในที่ประชุมสภาว่า คำใดไม่เหมาะสม ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ขออย่ามองว่า ส.สในสภาจะเหมือนกันทุกคน พื้นฐานแต่ละคนก็ต่างกัน นิสัยใจคอ กิริยา มารยาท ก็ต่างกัน บางอย่างคุมไม่ได้ ระเบียบข้อบังคับคุมได้ แต่กิริยามารยาทคุมไม่ได้”
แต่เมื่อดูการอภิปรายของ สส.ผู้ไม่เหลือเกียรติบางท่านที่ผ่านมา ทั้งที่เคยเป็นดาวเด่น เคยเป็นความหวัง ได้จุดไฟเผาเกียรติแห่ง สส. ของประชาชนอย่างย่อยยับ ด้วยความหลงผิดคิดว่าสภา คือ พื้นที่ของคนพูดเก่ง พื้นที่การแสดงท่าทางดุดัน ใช้ลีลาแสดงกิริยาถ่อยสถุล ใส่ร้ายเสียดสีใครก็ได้ เพียงเพราะเขา คือ สส. ผู้ยิ่งใหญ่คับสภา แต่เขาไม่รู้เลยว่านั้นเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่มี / ไร้มารยาทในการสื่อสารทางการเมืองในพื้นที่การเมืองแห่งเกียรติแห่งประชาชน จากเป็น สส. ดาวเด่นก็กลายเป็น สส.ดาวดับ กลาย สส.ปากเน่าเหม็นกลางสภาโดยไม่รู้ตัว
ประการต่อมาที่ต้องพิจารณา คือ การนำข้อมูลอันเป็นเท็จมาประกอบในการอภิปราย หรือ ใช้ข่าวสารเท็จ fake news ผสมด้วยวาทศิลป์ โน้มน้าว ทำท่าทางขึงขังให้ดูจริงจัง ใช้ข้อมูลจับแพะชนแกะสุดท้ายกลายเป็นเด็กเลี้ยงแกะ มาอภิปรายในสภาชี้ให้เห็นถึงความไร้จริยธรรมทางการเมืองของผู้อภิปราย ที่ต้องมีสามัญสำนึกแห่งความเป็น สส. ไม่ใช้สภาและความเป็น สส. โกหกประชาชนทั้งประเทศ ถือว่าไม่ให้เกียรติสภาในฐานะพื้นที่สาธารณะของประชาชน การสร้างการสื่อสารทางการเมืองที่เป็นทางการในลักษณะดังกล่าวเท่ากับตัวเองแขวนคอกลางสภาทั้งที่ปากยังเน่าเหม็น
โอฬาร ถิ่นบางเตียว