หน้าแรก Article ยุทธศาสตร์เพื่อไทย ไฟท์บังคับจองที่นั่ง “ฝ่ายค้าน”

ยุทธศาสตร์เพื่อไทย ไฟท์บังคับจองที่นั่ง “ฝ่ายค้าน”

0
ยุทธศาสตร์เพื่อไทย  ไฟท์บังคับจองที่นั่ง “ฝ่ายค้าน”
Sharing

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคเพื่อไทย คือพรรคเบอร์ 1 ของเมืองไทย โดยเฉพาะในเรื่องของฐานมวลชน ที่มีจำนวนมาก และยังเหนียวแน่น แม้การเมืองจะถูกแช่แข็งไปแล้วก็ตาม

คาดกันว่าพรรคเพื่อไทย มีโอกาสสูงยิ่งในการกวาด ส.ส.เข้ามาเป็นอันอันดับที่ 1 แต่ด้วยเพราะขาดการยอมรับจากบางฝ่าย แม้จะได้ใจประชาชน พรรคเพื่อไทยหาได้ถูกวางให้เป็นแกนนำรัฐบาล

ถึงจุดนี้ จึงไม่ควรแปลกใจหากเห็นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แย่งชิงธงนำฝ่ายประชาธิปไตย เพราะว่ากันว่า นายอภิสิทธิ์รู้แล้วว่า อย่างไรฝ่ายทหารก็ไว้ใจ และให้การยอมรับ ที่เหลือจึงหวังให้ประชาชนไม่ออกมาต้านเท่านั้น

นำมาซึ่งปฏิบัติการไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอกที่เป็นข่าว

กลับมาที่พรรคเพื่อไทย วงในยอมรับว่าเตรียมใจเป็นฝ่ายค้านแต่ไก่โห่ เพราะ “ฝ่ายผู้ทรงพลัง” ไม่ยอมให้คัมแบ็กกลับมาแน่นอน มาถึงวันนี้ ฝ่ายผู้ทรงพลังก็มั่นใจแล้วว่าเอาเกมอยู่

แถมในพรรคเพื่อไทยเอง หลายกลุ่มได้โบกมือลาไปเรียบร้อยแล้ว โอกาสชนะได้ถึง 200 ที่นั่ง นำห่างพรรคเบอร์ 2 50 ที่นั่งขึ้นไป จึงถือเป็นเกมยาก

สำหรับกลุ่มที่แยกค่ายตีจากเพื่อไทย นำโดยกลุ่มของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ยังไม่สังกัดพรรคไหนชัดเจน กลุ่มวาดะห์ ย้ายไปร่วมพรรคประชาชาติ กลุ่มของนายสมพงษ์ เลิศนุวัตร ขณะที่คนในพรรคเอง ก็ยังแบ่งรับ แบ่งสู้ จะอยู่หรือไป เพราะแม้กระแสพรรคดี แต่อำนาจเขียวอี๋ ไม่เล่นด้วย

แต่หาใช่พรรคเพื่อไทยจะสิ้นไร้ไม้ต่อ เพราะการเมืองไทย เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ล่วงหน้าแค่ 1 ชั้น ส่วนชั้นที่ 2 3 4 เป็นเรื่องสุดหยั่งถึง

รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร เคยให้ความเห็นกับทางรายการ Ringsideการเมืองว่า

“พรรคเพื่อไทยต้องเป็นฝ่ายค้าน แต่จะเป็นฝ่ายค้านแบบไหน ตรงนี้คือสาเหตุว่าทำไมพรรคถึงยังไม่มีหัว เพราะถ้าจะเล่นบทฝ่ายค้านจริงจัง ไม่หวังคุยกับใครอีกแล้ว ก็ต้องเลือกใช้คนหนึ่ง แต่ถ้าจะเป็นฝ่ายค้าน ที่พอจะพูดคุยกับอีกฝ่ายได้ ก็ต้องเลือกผู้นำอีกคนหนึ่ง ต้องถามว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นฝ่ายค้านแบบไหน”

สำหรับยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย ในสภาพที่ฝ่ายอำนาจสีเขียวจ้องตาเขม็ง ต้องยอมรับการมานั่งเป็นฝ่ายค้านด้วยความแค้น แต่มีเสียงเป็นอันดับ  1 ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล เป็นการผสมกันระหว่างหลายพรรคการเมือง

ย่อมไร้ความเป็นเอกภาพ

มองมุมดังกล่าว พรรคเพื่อไทย บวกแนวร่วม น่าจะมีเสียงในสภาประมาณ 220 เสียง มีโอกาสฉกสมาชิกฝ่ายรัฐบาลบางคนมาเก็บสะสมไว้รอยกมือ “ไม่ไว้วางใจ” ได้

และเมื่อใด ที่ฝ่ายทหารคลายกังวล ยอมให้การเมืองเดินไปตามธรรมชาติ โอกาสของพรรคเพื่อไทยย่อมจะเปิดกว้าง ในการพลิกกลับมาเป็นรัฐบาล ตามสูตรดึงแนวร่วมต่างขั้ว ต่อรอง แลกเสียง “ไม่ไว้วางใจ”

และถึงเวลาจริง อาจต้องการแค่ 10 – 20 คน ก็ล้มรัฐบาลได้แล้ว ซึ่งจำนวนดังกล่าวหาใช่เรื่องยากเลย

จากนั้น ก็เดินหน้าดิลกันใหม่ หาช่องตั้งรัฐบาล

ความพิศดารของการเมืองไทย มันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ที่โจษจันกันทั่ว ต้องย้อนกลับไป ปี 2518

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ซึ่งมี ส.ส.ในสภาเพียง 18 เสียง สามารถรวบรวม ส.ส.พรรคต่าง ๆ รวม 8 พรรค ได้ 135 เสียง เท่ากับครึ่งหนึ่งพอดี จัดตั้งรัฐบาลโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี

ในขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีเสียงมากที่สุด 74 เสียง กลายเป็นฝ่ายค้าน

ขนาดมีแค่ 18 เสียง ยังดิลกันตั้งรัฐบาลได้ แล้วในอนาคต หากพรรคเพื่อไทยที่น่าจะได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 จะไม่สามารถหาเสียงมาหนุนพลิกเกมกลับมาเป็นรัฐบาลได้เชียวหรือ ?

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ถ้าฝ่ายความมั่นคง “ยอม”  เท่านั้น

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่