นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พบปะให้กำลังใจลูกจ้าง 7 องค์กรแรงงาน พร้อมรับหนังสือข้อเรียกร้องกรณีที่ลูกจ้างได้รับผลกระทบจากข้อพิพาทแรงงาน กำชับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งรัดติดตามช่วยแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงานตามขั้นตอนของกฎหมายโดยเร็วที่สุด
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 เวลา 11.30 น.ที่บริเวณชั้นล่าง อาคารกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ลงมาพบปะพูดคุยเพื่อให้กำลังใจกับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านแรงงานขององค์กรแรงงาน จำนวน 7 องค์กร เพื่อดำเนินการหาแนวทางการช่วยเหลือตามขั้นตอนของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคนทุกกลุ่มเป็นอย่างยิ่ง ให้ดูแลดุจคนในครอบครัว จึงได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานทำงานเชิงรุก ติดตามให้ความช่วยเหลือ และให้การสนับสนุนผู้ใช้แรงงานในทุกมิติ ซึ่งในวันนี้ผมได้ลงมาติดตามปัญหาของพี่น้องผู้ใช้แรงงานด้วยตนเอง ซึ่งกรณีปัญหาด้านแรงงานของแต่ละสหภาพแรงงานนั้น ผมได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าไปเร่งรัด ติดตาม และรายงานผลกลับไปโดยเร็วที่สุด
โอกาสเดียวกันนี้ มีนางอภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และคณะ ได้นำลูกจ้าง จำนวน 250 คน ได้เข้าขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ได้ผลักดันและช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 9.27 ล้านคน ให้ได้รับการช่วยเหลือรายละ 4,000 บาทเป็นผลสำเร็จ และเข้ายื่นหนังสือข้อเรียกร้องของลูกจ้างได้รับผลกระทบจากปัญหาข้อพิพาทด้านแรงงาน ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อนำเสนอปัญหาและหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยมีประเด็นปัญหาดังนี้ 1) สหภาพแรงงาน (สร.) ซัมมิทแหลมฉบัง โอโต บอดี้ กรณีนายจ้างสร้างหลักฐานการกลับเข้ามาทำงาน โดยจ่ายค่าจ้างให้พนักงานจำนวน 7 วัน และเลิกจ้างพร้อมนำเงินส่งสำนักงานประกันสังคมเป็นเหตุให้ลูกจ้างเสียสิทธิกรณีว่างงานในงวดสุดท้าย 2) สหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทย (บริษัท โตโยต้า โกเซรับเบอร์ ประเทศไทย จำกัด) บริษัทฯ กล่าวหา นายสุนทร เพชรอ้อน ว่ายุยงปลุกปั่นพนักงานและให้นายสุนทรฯ กับพวก 14 คน อยู่นอกบริษัทฯ อ้างปรับปรุงบริษัทฯ และมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เรื่อยมา สร.ได้ยื่นคำร้องขอให้ ครส. พิจารณาวินิจฉัยและออกคำสั่งว่าการกระทำของบริษัทฯ เป็นการฝ่าฝืน พรบ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 และให้บริษัทฯ ยกเลิกคำสั่งให้พนักงาน 14 คน กลับเข้ามาทำงานในตำแหน่งเดิมรวมถึงจ่ายเงินพิเศษให้กับพนักงาน 14 คน แต่พนักงาน 14 คน ไม่ได้รับเงินพิเศษแต่อย่างใด 3) สหภาพแรงงานผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไทย (ลูกจ้างของบริษัทพงศ์พาราโคนันรับเบอร์ จำกัด) นายจ้างยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานขออนุญาตเลิกจ้างนายสมคิด ของนา กับพวก 8 คน คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาถึงวันที่ 30 ม.ค.64 ซึ่งมิชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากศาลยังไม่อนุญาตให้บริษัทฯ เลิกจ้างคดีอยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลแรงงาน 4) สหภาพแรงงานยาชิโยด้า แห่งประเทศไทย กรณีบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เลิกจ้างกรรมการ สร.โดยไม่มีข้อหาเนื่องจากนายจ้างไม่ต้องการให้ลูกจ้างไปยื่นคำร้องที่ สสค.ปทุมธานี และอยู่ในระหว่างเรียกนายจ้างไปชี้แจงข้อเท็จจริง 5) สหภาพแรงงานบริษัท สยามยาชิโยะ จำกัด บริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงงาน พ.ศ. 2541 โดยใช้อำนาจโดยไม่ชอบในการกลั่นแกล้งพนักงานไม่ให้สามารถทำงานต่อไปได้ จนไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย และ 6) สหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ฯ ประเด็นปัญหาบริษัท รักษาความปลอดภัยท่าอากาศยานไทย จำกัด อาทิ เรื่องการโอนย้ายพนักงานที่ไม่เป็นธรรม การประกาศใช้นโยบาย Work From Home กับพนักงานตรวจค้นรายเดือน (บังคับให้หยุดงาน) และหักเงินเดือนพนักงาน หากพนักงานไม่มาทำงานในวันที่สั่งหยุด ให้พนักงานรักษาการณ์ทำงาน 8 ชม. โดยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องน้ำหรือทำธุระส่วนตัวที่จำเป็น ทำให้พนักงานหญิงมีปัญหาสุขภาพ บริษัทฯ ออกประกาศเพิ่มชั่วโมงการทำงานจาก 8 ชม. เป็น 12 ชม. ในแผนกรักษาความปลอดภัย บริษัทฯ ไม่มีการจัดหาห้องพยาบาล และห้องพักผ่อนไว้ให้พนักงาน บริษัทฯ ไม่มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวะอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตามกฎหมาย ฯลฯ และ 7) บริษัท ยูชิน ประเด็นติดตามความคืบหน้าคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาว่าขณะนี้มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
ด้านนางอภันตรี เจริญศักดิ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวได้ขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ได้ช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงาน โดยผลักดันโครงการ ม33เรารักกัน เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมยังไม่เคยได้รับการช่วยเหลือใดๆ มาก่อน รัฐบาลและกระทรวงแรงงานได้เล๋งเห็นความสำคัญ แม้ว่าเงินจำนวน 4,000 บาทจะไม่มาก แต่ก็สามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของพี่น้องผู้ใช้แรงงานได้มาก ซึ่งเงินเหล่านี้ยังจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวโดยเร็วอีกด้วย