หน้าแรก Article บทบาทของพรรคที่ 4 ในศึก 3 ก๊ก

บทบาทของพรรคที่ 4 ในศึก 3 ก๊ก

0
บทบาทของพรรคที่ 4 ในศึก 3 ก๊ก
Sharing

ยก 3 ก๊กมาเทียบการเมืองไทย สำหรับนายนิพิษฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกลูกครีเอท ระบุว่า การเมืองไทยมี 3 ฝ่าย เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ และ คสช. หลังนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลฝ่ายเศรษฐกิจ พูดชัด “เชียร์บิ๊กตู่” ส่วนนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็แว่วว่าได้รับการทาบทามมีที่นั่งในพรรคการเมือง ล่าสุดนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ ได้พูดชัด “บิ๊กตู่” เหมาะสมที่สุด เป็นที่มาของ “ก๊กทหาร”

ยังไม่นับกลุ่มพรรคประชาชนปฏิรูปประเทศของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ออกหน้าหนุน “บิ๊กตู่” เต็มที่

ฝ่าย “ก๊กเพื่อไทย” ชัดเจนว่าปฏิเสธฝ่ายทหารแน่นอน ด้วยเพราะการประกาศจุดยืนที่ยากจะเป็นอื่น ย้ำชัดต่อต้านเผด็จการ

ฝ่าย “ก๊กประชาธิปัตย์” ปฏิเสธฝ่ายเพื่อไทย เพราะต้องใช้นโยบายต้านระบอบทักษิณ หาคะแนนนิยม ดังที่นายศิริโชค โสภา สมาชิกคนสำคัญของพรรค เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ Ringsideการเมือง ว่า

“ต่อให้ต้องแพ้การเลือกตั้งไปอีกหลายปี ก็ขอยืนยันต่อต้านระบอบทักษิณ ด้วยเพราะเป็นภารกิจเพื่อชาติในระยะยาว และหวังว่าวันหนึ่งจะประชาชนจะเข้าใจ”

ด้านฝ่ายทหาร ต้องหนุน “พลเอกประยุทธ์” จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกฯรัฐมนตรี เพราะให้บิ๊กตู่สร้างผลงาน สร้างภาพลักษณ์มาตลอดหลายปี แถมรัฐธรรมนูญเปิดช่องเอื้อประโยชน์ทุกทิศทาง

และที่ผ่านมาตัว “บิ๊กตู่” เองก็ออกอาการเป็นห่วงชาติหลังเลือกตั้งอยู่ตลอด อยากให้คนไทยเลือกคนดี มาแบบนี้ ส่งตัวเองไปเป็นคนดีให้เลือก น่าจะเป็นทางออกที่ถูกใจหลายฝ่าย

แต่มารอบไหน ในบัญชีรายชื่อ หรือนายกฯคนนอก ยังเป็นคำถาม ที่ไร้คำตอบ

แม้จะเป็นศึก 3 ฝ่าย แต่ในทางการเมืองไทย หน้ากระดาน หาใช่มีหมาก 3 ตัว ด้วยเพราะยังมีพรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา พลังชล ก็เดินอยู่ในกระดานเช่นกัน ในฐานะตัวแปรทางการเมือง

ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ไม่เปิดโอกาสให้แต่ละพรรคได้เสียงเกินครึ่ง

ดังนั้น การจับมือกับขั้วที่ 4 จึงเป็นโอกาสเดียวในการสร้างฝันในการเป็นรัฐบาลให้เป็นจริง

ที่หาใช่จะบีบคอมาร่วมหอลงโลงได้เช่นในอดีต ที่อุดมไปด้วยสื่อเก่า อยู่ภายใต้การควบคุมของผู้มีอำนาจ เพียงฝ่ามือ ก็ปิดตาคนทั้งประเทศมิด

“หมดยุคการใช้อำนาจที่เหนือกว่าบีบผู้อ่อนแอให้ยอมศิโรราบ”

แต่สื่อยุคปัจจบัน ทำให้การเมืองซับซ้อนไปอีกหลายขั้น เพราะโลกออนไลน์ เปิดโอกาสให้สังคมจับตามองนักการเมือง พรรคการเมือง ทุกฝีก้าว ขณะเดียวกัน ยังทำหน้าที่บันทึกทุกถ้อยคำทุกพฤติกรรม ที่เคยเกิดขึ้น ชนิดที่สื่อเก่าไม่มีทางทำได้  

การเลือกของ “ก๊กที่ 4” จึงเป็นไปอย่างระมัดระวังอย่างที่สุด เพื่อไม่ให้การตัดสินใจที่สำคัญกลายเป็นรอยด่างแปดเปื้อนตัว ในยุคที่สังคมพร้อมขุดเรื่องเก่ามาโจมตี

และสิ่งที่ประกัน “ความสบายใจ” คือการเลือกตามประชาชน

ประชาชนไปทางพรรคไหน พรรค “ก๊กที่ 4” ก็ไปตามพรรคนั้น  

รศ. อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง เคยให้ความเห็นในรายการ Ringsideการเมือง ว่า

“ทุกพรรค มีการพูดคุยกันไว้แล้ว แต่ถึงเวลา ถ้าพรรคคุณได้คะแนนน้อย ประชาชนเขาไม่เอา ที่เคยคุยกันไว้ ก็คือโมฆะ คุณอยากได้เพื่อน คุณต้องมีประชาชนเป็นเพื่อนก่อน”

จึงไม่น่าแปลกใจที่ “ก๊กทหาร” เร่งปั่นคะแนนหาเสียง เดินสายคิวแน่นตลอดช่วงต้นปี เหนือ-ใต้-ออก-ตก ลงทุกพื้นที่ ระหว่างนั้น ไม่รอช้ากระจายเงินลงตามหมู่บ้าน ผ่านโครงการไทยนิยมเข้มแข็ง ขณะเดียวกัน นับวันรอเมกะโปรเจ่ก มอเตอร์เวย์ ECC ผลิดอกออกผล ช่วงปลายปี คะแนนน่าจะไหลมาทางฝ่ายทหาร ตามการวางเกมของบรมกุนซือ

ทั้งนี้ นายวิษณุ ยอมรับว่า การเดินสายของ “บิ๊กตู่” ในช่วงหลัง หากจะมองว่าเป็นการหาเสียงย่อมคิดได้ แต่จะดีกว่าเพราะไม่มีโกยแต้มแล้วชิงยุบสภา เหมือนที่ผ่านมา

เปิดเกมชิงมวลชน เดินหน้าก่อนเพื่อน สำหรับพรรคเพื่อไทย เป้าหมายสำหคัญคือการ “ดิสเครดิท” ฝ่ายทหาร ด้วยการโจมตีว่า มาอย่างไม่ชอบธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย ไปจนถึงเรื่องปัญหาปากท้อง ไม่ต่างจากประชาธิปัตย์ ที่มุ่งโจมตีฝ่ายทหาร ขณะเดียวกัน ฉะยับ “ระบอบทักษิณ” ด้วย

ถึงจุดนี้ ต้องมาลุ้นว่า ในวันเลือกตั้ง “ก๊ก” ไหน จะได้ใจประชาชนมากที่สุด

เมื่อนั้น “ก๊กที่ 4” ถึงจะออกโรง เพื่อตอกย้ำความต้องการของประชาชน

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่