หน้าแรก Article ฝ่ายการเมืองขยับ จับมือต้าน คสช.

ฝ่ายการเมืองขยับ จับมือต้าน คสช.

0
ฝ่ายการเมืองขยับ จับมือต้าน คสช.
Sharing

การออกมาสร้างกระแสของนายชวน หลีกภัย  ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวโจมตีนายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  2 อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่มีอะไรใหม่ เป็นการสร้างกระแสเท่านั้น เพราะประเด็นที่เอามากล่าวหาทั้งสองอดีตนายกรัฐมนตรี ว่า เมินภาคใต้ เป็นการนำเอาของเก่ามาขายใหม่ เรื่องนี้นายชวนเคยพูดมาตั้งแต่  2 ปีที่ผ่านมา หรือพูดมาตั้งแต่ปี 2559 ดังนั้นก็แค่สร้างกระแส

แต่ที่น่าสนใจคือ ท่าทีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ที่ออกมาโจมตีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ในขณะที่นายชวน หลีกภัย กลับออกมาชื่นชมคสช.จึงมากลายเป็นว่าคนในพรรคนี้เล่นตีสองหน้าได้เนียนมาก อีกคนด่า อีกคนชม

แต่หากมองลึกๆแล้วการดำเนินเกมของนายชวน เป็นการเล่นเกมเรียกกระแสมากกว่าหลังจากที่โดนกระหน่ำมาตลอดว่าทิ้งคนในพื้นที่ กระเทือนภาพของชวนที่ภาคใต้ ซึ่งเคยเป็นดั่งเทพเจ้า ดังนั้นการออกมาแบบนี้ย่อมที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่ากระแสความนิยมในตัวผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ลดลงไปพอสมควร บวกกับการจัดการของสุเทพ เทือกสุบรรณ และพลพรรคกปปส.อาจจะส่งผลกระทบต่อฐานเสียงของประชาธิปัตย์

ว่ากันว่า การตั้งพรรคของกปปส.หวังให้เป็นพรรคอะไหล่ของประชาธิปัตย์  เก็บตกคะแนนจากคนไม่เลือกพรรคประชาธิปัตย์บางส่วน ที่จะมาเลือกพรรคของ กปปส. แต่สุดท้ายคงไปรวมกันตอนเลือกตั้งเสร็จสิ้น ไม่ได้หวังที่จะมีนโยบายใหม่อะไรที่มาเสนอประชาชนสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะเรื่องปฏิรูป ก่อนหน้าพูดเอาไว้ ถึงวันนี้ยังไม่เห็นมีอะไรคืบหน้า จะตั้งพรรคก็เชิญตามสบาย ดูแล้วเหมือนการแบ่งกันทำ จากกลุ่มไม่เลือกประชาธิปัตย์ แต่เลือก กปปส.แต่สุดท้ายก็ไปรวมกันอยู่ดี พรรคลักษณะนี้คงเป็นพรรคเฉพาะกิจมากกว่า ถึงอย่างไรก็มาจากไผ่กอเดียวกัน เพียงแค่วันนี้แตกหน่อออกไป

กระนั้นก็ตาม หลังก้าวพ้นเดือนมีนาคม ที่ คสช.เปิดโอกาสให้มีการยืนยันสมาชิกพรรคเก่ากระตุ้นให้เกิดความ อยากเลือกตั้งทุกระดับ ทั้งพรรคเล็ก-พรรคใหญ่-พรรคใหม่ เกิดการรวมหัวกันอย่างคึกคัก คนการเมืองทุกระดับรุกแสดงความจำนงให้ คสช.ปลดล็อกอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งรับสมัครสมาชิกพรรคใหม่ จัดประชุมพรรค และการจัดทำนโยบาย เพื่อแคมเปญรณรงค์หาเสียง ทุกพรรคจึงเข้าแถวหน้ากระดานเผชิญหน้ากับ คสช.ขณะเดียวกัน นักการเมืองก๊ก-ก๊วนเก่า ในแต่ละพรรคก็มีการจัดแถว-ย้ายพรรคใหม่ เตรียมลงสนามในกติกาใหม่

พรรคเพื่อไทย-ฐานที่มั่นใหญ่ยังอยู่ในกลุ่ม ส.ส.อีสาน-เหนือ ส่วนภาคกลางมีแนวโน้มการย้ายพรรค ด้วยการไม่ยืนยันสมาชิกพรรค อาทิ กลุ่ม สะสมทรัพย์-กลุ่มวาดะห์ และพวก บุคคลระดับ บิ๊กเนม บางรายอาศัยจังหวะนี้หวนคืนกลับเข้าสู่ระบบสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพื่อเป็นตั๋วในการลงรับสมัครเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชื่อของพรรค-นามของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จึงเป็นอีก 1 รายที่รอ คสช.ปลดล็อก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ย้ายออกจากเพื่อไทย ถือได้ว่าเป็นดาวฤกษ์ทางการเมือง ที่สะเทือนจำนวน ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยแน่นอน

พรรคประชาธิปัตย์-เกิดปรากฏการณ์ ผลัดใบ ให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทนำอีกครั้ง พร้อมกับแคมเปญพรรค เสรีนิยมประชาธิปไตยขับเคลื่อนแข่งขันกับคนในที่แยกวงไปตั้งพรรค กปปส. มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นฐานที่มั่น

พรรคภูมิใจไทย-ได้สมาชิกเก่าจากพรรคใหญ่เข้ามาในสังกัดเพิ่ม อาทิ กลุ่มศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ จากค่ายชาติไทยพัฒนา

นอกจากนี้ ในบรรดาพรรคการเมืองใหม่ มี 1 ใน 97 กลุ่มการเมืองที่โดดเด่น และถูกจับตาว่าเป็นพรรคเครือข่ายทหาร คือ พรรคพลังประชารัฐ ภายใต้ความเคลื่อนไหว-ที่ไม่เคลื่อนไหวของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่ถูกกล่าวหาว่าตั้งพรรคในทำเนียบ จากแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ชื่อของนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถูกสมคิด พาดพิงให้สืบทอดการตั้งพรรค และหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ในรุกมีถอย-ในถอยมีรุก เมื่อสมคิดไม่ปฏิเสธ และไม่ยืนยัน เรื่องตั้งพรรคเป็นฐานให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำนองว่า

เรื่องตั้งพรรค หากตั้งพรรค ลูกน้องผมตั้ง ผมแก่แล้วอย่ากังวล ผมปรารถนาดีต่อประเทศชาติ การบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ๆแต่ลูกน้อง สมคิด อย่าง สนธิรัตน์ ซึ่งมีข่าวว่าจะเป็น เลขาธิการพรรค บอกสถานการณ์เฉพาะหน้าว่า ยังไม่มีการตั้งพรรค แต่ก็มีชื่อของผมเข้าไปเกี่ยวพัน ขณะนี้ก็มีการตั้งพรรคใหม่ถึง 90 พรรค และอยู่ในระหว่างการพูดคุยว่าประเทศจะต้องไปทางไหน และมองว่าใครจะเป็นผู้ที่เหมาะสมที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกฯ

ห้วงที่ คสช.ห้ามทุกพรรคทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ และแกนนำรัฐบาล ผันตัวลงสู่สนามอย่างเต็มที่ด้วยการลงไปพบปะ-ปราศรัยกับประชาชนโดยตรง เดือนละ 2 ครั้ง แบ่งเป็นการลงพื้นที่ติดตามผลงาน และการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร และบริการเสริมเปิดงาน-เปิดตัวโครงการประชารัฐ ควบคู่การรุกหว่านเม็ดเงินงบประมาณลงพื้นที่ระดับรากหญ้าอย่างต่อเนื่อง ทุกพื้นที่ล้วนมีความหมายทางการเมือง ทั้งเจาะฐานเสียง-พบปะหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ ครบเครื่อง ดักทุกทาง ดัน พล.อ.ประยุทธ์ รับกระแสความนิยม สะสมเป็นแต้มการเลือกตั้ง แม้โรดแมปการเมืองประเทศไทยจะยังไม่มีความชัดเจน และเสี่ยงที่จะไปไม่ถึงวันเลือกตั้ง กุมภาพันธ์ 2562 แต่ทุกองคาพยพต่างรุกเตรียมพร้อม ลงสนามเผชิญหน้ากับ คสช.ในลู่เลือกตั้ง

จากท่าทีและคนที่ผ่านการเมืองมานานอย่าง นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ระบุว่ากรณีพรรคพลังประชารัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้นว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค รวมถึงกระแสข่าวนายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาจเข้าไปร่วมพรรคพลังประชารัฐด้วยว่า ถือเป็นแนวทางตามธรรมชาติของพรรคการเมืองที่ต้องหาต้นทุนทางผู้สมัครหรือแนวร่วม เพราะคนที่เป็นนักการเมืองจริงๆ ต้องเป็นบุคคลเฉพาะ ไม่ได้มีอยู่เกลื่อนกลาดในตลาดเหมือนบุคคลทั่วไป พรรคการเมืองจึงจำเป็นต้องลงไปดูทิศทางว่าพรรคจะเดินได้แค่ไหน ตนจึงมองเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ตื่นเต้น เพราะที่สุดแล้ว ผู้สมัครจะไล่ลำดับเลือกเองว่าพรรคการเมืองใดที่เข้าไปอยู่แล้วจะได้ประโยชน์ทางการเมืองมากที่สุด

คนที่จะลงสมัครพรรคใดต้องคิดแล้วว่าเขาจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ไม่มีใครจะไปอยู่ในพรรคการเมืองที่มีแรงต้าน

เป็นการทิ้งท้ายที่น่าสนใจ

และอาจสะท้อนสถานะของ พรรค คสช. พร้อมกับตอบคำถามว่า เหตุไฉน จึงยังไม่มีพรรคเก่าเปิดตัวหนุน คสช.

สุดท้ายไม่ว่าการเมืองจะออกมาอย่างไร คสช.จะปลดล็อคให้จริงหรือไม่ การพบปะเจรจาของบรรดาพรรคการเมืองกับทหาร จะเป็นจริงตามข่าวลือหรือไม่ สุดท้ายที่ประเทศจะเดินไปได้ก็คือการเลือกตั้งเท่านั้น แม้คสช.อยากอยู่ในตำแหน่งต่อไปด้วยการใช้อภินิการทางกฏหมายอย่างไรก็ตาม สุดท้ายประเทศไทยต้องมีเลือกตั้ง เพราะคำตอบสุดท้ายของคนไทยก็คือ เขาอยากเลือกตั้งหาใช่เขาอยากอยู่นานไม่

ขอบคุณภาพ : ไทยรัฐ

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่