หน้าแรก news “นักวิชาการ” เชื่อ นายกฯหลังเลือกตั้ง อาจไม่ใช่ “บิ๊กตู่”

“นักวิชาการ” เชื่อ นายกฯหลังเลือกตั้ง อาจไม่ใช่ “บิ๊กตู่”

0
“นักวิชาการ” เชื่อ นายกฯหลังเลือกตั้ง อาจไม่ใช่ “บิ๊กตู่”
Sharing

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวถึงกรณีที่นายสนธยา คุณปลื้ม และนายอิทธิพล คุณปลื้ม เข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลว่า กลุ่มชลบุรีมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับกลุ่มบูรพาพยัคฆ์มาตั้งแต่ยุค “กำนันเป๊าะ” ด้วยเพราะทหารกลุ่มนี้ดูแลพื้นที่ชลบุรี และกำนันเป๊าะ ก็ทำมาหากินในพื้นที่เดียวกัน ย่อมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ในสถานการณ์ที่ คสช. ต้องการแนวร่วมทางการเมือง เพื่อสู้ศึกในสนามเลือกตั้ง กลุ่มของตระกูลคุณปลื้มจึงเป็นกลุ่มแรกที่ต้องดีลด้วย การได้กลุ่มการเมืองดังกล่าวมาไว้ในมือ หากมีการทำสัญญาระหว่างกันไว้ ย่อมรับประกันได้ว่าเมื่อถึงเวลาต้องอาศัยความช่วยเหลือ นักการเมืองกลุ่มนี้ ไม่มีบิดพริ้วแน่นอน เพราะมีความเป็นนักเลงอยู่พอตัว จุดนี้คือคุณสมบัติทางการเมืองที่ คสช. ต้องการ ยิ่งกว่านั้น นายสนธยา นอกจากจะมีอิทธิพลในชลบุรีแล้ว ยังเป็นเหมือนพี่ใหญ่ ของกลุ่ม 16 การได้นายสนธยาเข้ามา ก็อาจจะสามารถดึงสมาชิกคนอื่นเข้ามาร่วมด้วยได้ ขณะเดียวกันนายสนธยา ยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา เพราะเคยสังกัดพรรคนั้นมาก่อน ก็อาจจะดึงพรรคชาติไทยพัฒนามาร่วมด้วยในอนาคต

ผศ.ดร.โอฬาร กล่าวถึงโอกาสที่พลเอกประยุทธ์ จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง ว่า ถึงเวลาท่านอาจจะปฏิเสธ เนื่องด้วยกระแสทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ อยู่ในช่วงไม่สู้ดีนัก หากจะอยู่ต่อ น่าจะเจ็บหนัก และท่านสามารถขึ้นไปดูแลในตำแหน่งที่สูงกว่านี้ได้ เช่นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ก็มีแนวโน้มว่าจะให้คนอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ต้องดูตามสถานการณ์ว่าใครจะเหมาะสมที่สุด ในสถานการณ์บ้านเมือง ณ ช่วงเวลานั้น หากจะให้ชอบธรรม ก็ควรจะเป็นนายกฯ คนใน เป็นคนของพรรคการเมือง

“นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็สามารถเป็นนายกฯรัฐมนตรีได้ ที่สำคัญมีความชอบธรรมกว่าพลเอกประยุทธ์ด้วยซ้ำ เพราะ ยังไม่ช้ำ และเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง มีส่วนยึดโยงกับประชาชน”

สุดท้าย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ระบุว่า คสช. เดินเกมเพื่อการสืบทอดอำนาจได้อย่างชาญฉลาด ที่รีบกลับตัวจากการขายพลเอกประยุทธ์ ในภาพลักษณ์ของคนดี ขยัน ซื้อตรง ขายนโยบาย แต่ที่สุดแล้วปรากฏว่า ประชาชนไม่ซื้อ เปลี่ยนเป็นการดึงนักการเมืองเข้าเป็นพวก ที่น่าจะรับประกันเสียงในสภา ได้แน่นอนกว่า

ตนไม่แปลกใจกับดีลทั้งหลายที่กำลังดำเนินอยู่ เพราะเรื่องการเมือง มันเป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์อยู่แล้ว คุณจะเห็นว่าทันทีที่มีข่าวว่า คสช. เข้ามาจีบนักการเมืองนครปฐม หลังจากนั้น ฝ่ายพรรคเพื่อไทยก็ตามเข้ามาร่วมวงเล่นทันที นี่คือธรรมชาติของการเมืองในโลกของความเป็นจริง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่