“เป็นเรื่องที่ดี สนับสนุนให้นักการเมืองทุกคนที่สนับสนุน คสช. เข้ามามีส่วนร่วมให้เกิดความชัดเจน ประชาชนก็จะไม่สับสนว่าใครฝักใฝ่ระบบ คสช. ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น และนักการเมืองคนไหนฝักใฝ่ประชาธิปไตย ประชาชนจะได้ชัดเจน ประวัติศาสตร์จะได้บันทึกไว้ว่าใครเลือกข้างไหน จึงเป็นสิ่งที่ดี และอยากเห็นความชัดเจนมากกว่านี้”
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่ ซัดเพื่อนหงายเก๋ง ตีตราให้พรรคพลังชลกลายเป็นผู้ฝักใฝ่ระบบ คสช.
ที่อาจหมายถึง “เผด็จการ” ไปเสียแล้ว
ทั้งที่ความจริง นายสนธยา และนายอิทธิพล คุณปลื้ม มีบารมีในชลบุรี ก็เพราะทำคุณงาม มีความเป็นกลาง สามารถประสานงานร่วมกับทุกฝ่าย ให้ชาวบ้านอยู่ดี กินดี จนชนะใจประชาชน ได้รับเลือกตั้งมาหลายสมัย
แต่วันนี้ กลับถูกนายธนาธร จัดวางให้เป็นขั้วทหาร เพียงเพราะรับทำงานให้ฝ่าย รัฐบาล ที่นายธนาธร หรือแม้แต่ใคร ก็ยังไม่ทราบรายละเอียดลึกๆ ของ “บิ๊กดีล” ที่เกิดขึ้น
จึงน่าเห็นใจ “คุณปลื้ม” ที่ ต้องรับผิดชอบกับผลงานของ คสช.ไปด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ยอดเยี่ยม มิเช่นนั้น คงไม่เพรียกหานักการเมืองมาช่วยงาน ทั้งที่ก่อนหน้านั้น เคยก่นด่านักการเมือง
ชัดเจนแล้วว่า คสช. มิอาจโดดเดี่ยวตัวเองเพื่อทำงานใหญ่ได้ แม้จะมีข้าราชการหลายล้านเป็นมือไม้ แต่ก็จำเป็นต้องพึ่งพาองคาพยพส่วนอื่น สะท้อนผ่านโครงการประชารัฐ ที่ต้องดึงเอาภาคธุรกิจมาร่วมด้วยช่วยกัน ขณะที่โครงการไทยนิยม ก็ประสานมือกับนักการเมืองท้องถิ่น ผลงานกระเตื้องขึ้น แต่ไปไม่สุด
จึงไม่แปลกใจ หาก คสช. จะเรียกใช้บริการนักการเมือง อาทิ พี่น้อง “คุณปลื้ม” เพราะอย่าลืมว่า หลายคนใน คสช. เคยคลุกคลีกับนักการเมืองมาหลายขั้วหลายข้าง อย่าง “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ ผ่านมาแล้วทั้งขั้วเพื่อไทย ประชาธิปัตย์
“นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฝ่ายเศรษฐกิจ ก็ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมือง โลดแล่นในยุทธจักรการเมืองมาตลอด 20 ปี จึงรู้มือเพื่อนในวงการเมืองเป็นอย่างดี ว่าใครเก่งกาจแค่ไหน
ในอดีต คสช.อาจมีเวลาลองผิดลองถูก แต่เมื่อผ่านไปแล้ว 4 ปี ผลงานไม่เข้าเป้า จำเป็นต้องเพิ่มแนวร่วม การ ดึงนักการเมืองเข้ามาช่วยงาน เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่เห็นชัดมาตั้งแต่การได้นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ จากพรรคชาติไทยพัฒนา มาเป็นรัฐมนตรีการท่องเที่ยว
กระทั่งล่าสุด คือการดึงนายสนธยา คุณปลื้ม มาเป็นที่ปรึกษาด้านการเมือง ขณะที่นายอิทธิพล คุณปลื้มมาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีท่องเที่ยว ด้วยหวังให้ช่วยผลักดันเรื่อง EEC ที่รัฐบาลหวังว่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทย จากประเทศที่มีรายได้หลักจากสินค้าระดับ 1.0 ให้กลายเป็นประเทศผู้มีศักยภาพด้านการแปรรูปวัตถุดิบ ระดับนานาชาติ เช่น เกาหลีใต้
ซึ่งฝีไม้ลายมือของนักการเมือง หากประจักษ์ขึ้นมาแล้ว ย่อมเป็นบวกกับ รัฐบาล คสช. และตัวนักการเมืองเอง
ที่สำคัญ ประชาชนย่อมได้รับอานิสงค์ไปด้วย
จึงหาใช่เรื่องที่ต้องมากีดกัน เพราะคนเก่งไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ย่อมสร้างประโยชน์ได้ มิใช่หรือ ?
อย่าลืมว่านักการเมือง ได้ปวารณาตัวเอง(ในช่วงหาเสียง)ไปแล้วว่าจะทำให้ประชาชนอยู่ดี มีสุข การรับใช้ประชาชน จึงเป็นหน้าที่หลักของนักการเมือง ไม่ว่าจะต้องร่วมงานกับฝ่ายไหนก็ตาม
การตัดสินใจทำงานในวันนี้ หาได้หมายความมว่านักการเมืองคนนั้น ได้เทใจไปอยู่กับฝ่ายทหาร เป็นผู้รับใช้เผด็จการไปแล้วเสียเมื่อไร
มองอีกแง่ การปฏิเสธโอกาส ในการสร้างผลงานยิ่งไม่ใช่วิสัยที่นักการเมืองควรทำ เพราะเมื่อมีช่องพัฒนาบ้านเมืองแล้ว ไม่ว่าทางไหน ควรจะแทรกตัวเข้าไปทำงานในฐานะตัวแทนพี่น้องประชาชน
หรือการเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงตามนิยามของบางคน นักการเมืองต้องรับใช้เพียงแค่ คนที่ประกาศตัวอ้างเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น
แล้วปล่อยให้ประชาชนกลุ่มอื่น อยู่นอกสายตา
Ringsideการเมือง