ผศ.ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มธ. กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมจะใช้งบประมาณ 350 ล้านบาทสร้างนักรบไซเบอร์ มาดูแลประชาชนว่า น่าจะมีจุดประสงค์ทางการเมืองเป็นสำคัญ เพราะในเรื่องของการไล่จับสินค้าเถื่อน สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ มีหน่วยงานอื่นรับผิดชอบอยู่แล้ว ทั้งนี้ เป้าหมายของรัฐน่าจะเข้ามาตีกรอบพฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียล เพื่อจัดการความเคลื่อนไหวของฝ่ายเห็นต่าง เป็นการวางบรรทัดฐาน ที่จะส่งผลเสียในอนาคต เพราะเท่ากับว่ารัฐจะถูกตรวจสอบได้น้อยลง
“มีหลายเคสที่สื่อโชเชียลนำมาซึ่งการตรวจสอบที่เป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องนาฬิกา และเรื่องบ้านป่าแหว่ง หากในอนาคต สื่อโซเชียลถูกลดทอน บทบาทดังกล่าวจะน้อยลงไปด้วย เป็นเรื่องน่าเสียดาย”
ผศ.ดร.เชาวฤทธิ์ กล่าวต่อว่า หากต้องการจะลดอำนาจของฝ่ายเห็นต่าง ตนเชื่อว่าการไล่ปิดสื่ออนไลน์ ไม่ใช่วิธีวิธีที่มีประสิทธิภาพ เพราะสุดท้าย มวลชนจะหันไปเล่นสื่อโซเชียลอย่างอื่น เมื่อบล็อก FB เขาจะไปเล่นไลน์ เมื่อปิดไลน์ เขาจะไปเล่นทวีตเตอร์ เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ
ด้าน ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยที่ภาครัฐจะสร้างบุคคลขึ้นมาเพื่อตรวจสอบแนวคิดทางการเมืองของประชาชน เพราะถ้ายืนยันว่าอยากจะเป็นประชาธิปไตย เท่ากับต้องยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง สิ่งที่อยากแนะนำคือ ต้องให้ประชาชนได้แสดงความเห็น แต่ต้องตีกรอบว่าให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ มิใช่ด่าทอกันด้วยเนื้อหาบิดเบือน