หน้าแรก news อ่านใจ “สรอรรถ” ตอบคำถาม ทำไมการเมือง ต้องดูหลังเลือกตั้ง

อ่านใจ “สรอรรถ” ตอบคำถาม ทำไมการเมือง ต้องดูหลังเลือกตั้ง

0
อ่านใจ “สรอรรถ” ตอบคำถาม ทำไมการเมือง ต้องดูหลังเลือกตั้ง
Sharing

นายสรอรรถ กลิ่นประทุม จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไอโอวาสเตท ประเทศสหรัฐอเมริกาสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์และสถิติ และระดับปริญญาโทจาก Catholic University Washington D.C. ประเทศสหรัฐอเมริกา สาขาการจัดการวิศวกร

ก่อนเข้าสู่วงการการเมืองในฐานะผู้แทนจังหวัดราชบุรี ได้รับเลือกเป็น ส.ส. 9  สมัยติดต่อกัน เป็นบทพิสูจน์ความนิยมของตัวนายสรอรรถ  หลังจากนั้น ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการรวมทั้งสิ้น 8 กระทรวง

นอกเหนือจากความสำเร็จด้านการเมือง นายสรอรรถได้ชื่อว่าบุคคลที่ไม่มี “รอยด่าง” ตลอดอาชีพการทำงาน

ชื่อของเขาไม่เคยอยู่ในบัญชีดำของหน่วยงานไหนทั้งสิ้น

ขณะเดียวกันยังเป็นผู้ที่เคารพศรัทธาต่อองค์รัชกาลที่  5 เป็นอย่างยิ่ง

นักข่าวรุ่นเก๋า ทราบดีว่า เมื่อครั้งที่เป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงพัฒนาสังคมฯ หลังเก้าอี้ทำงานของนายสรอรรถ จะมีพระบรมรูป ร.5 พร้อมด้วยเครื่องสักการะบูชา ประกอบด้วย พวงมาลัย สุรา น้ำเปล่า ซีก้า ตามความเชื่อจากการบอกเล่าของผู้ที่ศรัทธา โดยจะมีการเปลี่ยนเครื่องบูชาประมาณ 2-3 วันครั้ง

ขณะเดียวกัน นายสรอรรถยังให้ความสำคัญในเรื่องของพระพุทธศาสนามาก เมื่อครั้งทำงานในกระทรวงวัฒนธรรม เขาเป็นแรงผลักดันในการส่งคณะทำงานลงพื้นที่ตามโรงเรียน ปลูกจิตสำนึกการรู้จัก ผิด ชอบ ชั่ว ดี แก่เยาวชน

ปัจจุบัน นายสรอรรถเปรียบเสมือนหนึ่งในเสาหลักของพรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาพรรค

ล่าสุด นายสรอรรถ มีโอกาสมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการเมืองไทย ในงานรำลึก 26 ปี พฤษภาประชาธรรม และเสวนาหัวข้อ “วิสัยทัศน์ผู้นำพรรคการเมือง”

ที่น่าสังเกตคือ นายสรอรรถ ที่เติบโตมาในวิถีของประชาธิปไตย ด้วยชนะใจประชาชนคนราชบุรีมายาวนาน ถูก “บางส่วน” ชี้นิ้วว่าฝักใฝ่เผด็จการ หลังจากระบุว่า

“ในอนาคตพรรคภูมิใจไทยจะจับมือกับ คสช. หรือไม่ ขอเรียนความเห็นส่วนตัวว่า คำถามนี้เร็วไปหน่อย โดยธรรมชาติการเมืองจะคุยกันหลังเลือกตั้ง ทั้งนี้ ขอย้ำว่าทุกอย่างเป็นไปตามกติการะบอบการเลือกตั้ง ถ้าเข้ามาตามครรลองไม่มีใครปฏิเสธ เพราะเวลาเลือกตั้งไม่มีพรรคทหาร พรรคเผด็จการ เพราะทุกคนเข้าสู่การเลือกตั้ง”

ใน “ฝ่ายหนึ่ง” ย่อมตีความไปแล้วว่านายสรอรรถแบะท่าร่วมงานกับทหาร

อย่างไรก็ตาม ด้วยเพราะนายสรอรรถหาใช่คนเจ้าเล่ห์แสนกล สิ่งที่นายสรอรรถพูดจึงเป็นการให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมา อันเป็นภาพสะท้อนความจริงของการเมืองไทย

ต้องยอมรับว่าการเมืองไทย ยังอยู่ในสภาวะฝุ่นตลบ จับทางลำบาก

ครั้งหนึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าคนไทยส่ายหน้าเบะปาก “ยี้” ทหาร แต่หลังการทำประชามติ ความคิดเหล่านั้น ถูกทบทวนใหม่ทันที ด้วยกลายเป็นว่ามีคนไทยจำนวนมหาศาลซึ่งเร้นกาย ไร้เสียง และเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยฝ่ายกองทัพอย่างถล่มทลาย

เป็นการฉายภาพว่าแท้ที่จริงแล้ว ยังมี “พลังมวลชน” ซึ่งมิได้จงชังกองทัพ และพร้อมจะเกื้อหนุนให้อำนาจกองทัพขับเคลื่อนประเทศนี้อยู่ สวนทาง 108 โพล ที่ฟันธงตรงกันว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านประชามติ

นี่คือสิ่งที่ยืนยันว่า “ประชาชน” พร้อมสับรางหลอกกันได้ทุกเมื่อ

ขณะเดียวกัน ยังทำให้เห็นว่าในทางการเมือง มวลชนยังแบ่งเป็น 2 – 3 ฝ่าย ซึ่งมิอาจวัดปริมาณแนวร่วมได้จากเพียงความรู้สึก

กระนั้น แต่ละฝ่ายกลับชูว่าตนมีจำนวนเหนือกว่าอีกฝ่าย ไปจนถึงการนิยามตนเองว่าเป็นประชาชนที่แท้จริง เร่งเร้าให้นักการเมืองมายืนเคียงข้างตน โดยมิได้กวาดตามองรอบว่าแท้จริงแล้ว เป็นเศษเท่าไร ในส่วนของการเมืองกันแน่

อย่างไรก็ตาม ด้วยประสบการณ์ของนายสรอรรถ ย่อมรับรู้ว่าวันหนึ่ง ในฐานะนักการเมือง หนีไม่พ้นการต้อง “เลือก”

แต่การ “เลือก” บนข้อมูลที่ไม่ชัดเจน แลกกับเสียงปรบมือชั่วครู่ เป็นการผูกมัดตนเองไว้กับความไม่แน่นอน ทั้งที่ไม่จำเป็น เพราะอย่าลืมว่า กระแสวันนี้ หาใช่เสียงของคนทั้งประเทศ

ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ยังธำรงสถานะความเป็นกลาง ได้รับความนิยมจากประชาชนฐานเสียงอยู่แล้ว

ถึงขั้นได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นพรรคซึ่งเป็นทางออกของชาติในอนาคต หากฝ่ายที่เชียร์ กับชังทหาร พาบ้านเมืองไปสู่ทางตัน

จึงไร้เหตุผลอย่างสิ้นเชิง ที่นายสรอรรถ และพรรคภูมิใจไทย จะเชื่อเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่กู่ร้องมาจากบางฝ่าย จนถึงขั้นทิ้งโอกาสสำคัญทางการเมือง เดินออกจาก “เซฟโซน”

สำหรับนักการเมืองแล้ว ดีชั่วล้วนเชื่อผลการเลือกตั้ง เพราะเป็นสิ่งที่ ที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของประชาชน นับเป็นข้อมูลอันล้ำค่าประกอบการตัดสินใจ

ชัดเจนว่าการ “รอ”ดูจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าการผลีผลามวิ่งตามกระแส ณ ปัจจุบัน

เหล่านี้เป็นเหตุผลว่า ทำไมหลังจากถูกถาม “จะจับมือกับพรรค คสช. หรือไม่” นายสรอรรถจึงบอกว่า “เร็วไป” กับการตอบคำถาม และโยนการตัดสินใจทางการเมืองให้เกิดขึ้น

“หลังเลือกตั้ง”

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่