หน้าแรก Article “อย่าดูถูกประชาชนยุค 4.0″

“อย่าดูถูกประชาชนยุค 4.0″

0
“อย่าดูถูกประชาชนยุค 4.0″
Sharing

สนามการเมืองในประเทศไทย  หลังการรัฐประหารมีอะไรให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนของรัฐบาลคณะรัฐประหาร การเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง และการขยับตัวของพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าหรือพรรคใหม่

ความน่าสนใจอยู่ที่สนามเลือกตั้งครั้งนี้ ชัดเจนว่า อาจจะมีบางพรรคการเมืองเกิดใหม่ ที่มีแบ็กดี ดูดนักการเมืองเก่า ปูทางสู่อำนาจ เข้าสูตร “สมัคคีธรรมโมเดล” เป๊ะ

พรรคสามัคคีธรรมเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เกิดขึ้นมาหลังเหตุการณ์ยึดอำนาจปี พ.ศ.2534 ก่อนโตพรวดในชั่วข้ามคืน จาก 0 ไปถึง 100 ด้วยการดึง ส.ส. เก่าเข้าสังกัดพรรคอย่างล้นหลาม

ภายใต้การจัดการของ “บิ๊กซัน” พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับคณะรัฐประหารสมัยนั้น หัวหน้าพรรคชื่อนายณรงค์ วงศ์วรรณ

พรรคสามัคคีธรรม ถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนแกนนำ รสช. และอาจกล่าวได้ว่า แกนนำ รสช.บางคน มีส่วนสนับสนุนพรรคนี้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจหลังการเลือกตั้ง จึงมีที่มาคล้ายคลึงกับพรรคเสรีมนังคศิลา ที่เคยสนับสนุน จอมพล ป.พิบูลสงคราม และพรรคสหประชาไทย ที่เคยสนับสนุน จอมพลถนอม กิตติขจร ในการรักษาอำนาจหลังการรัฐประหาร นอกจากนี้ นักการเมืองบางคนที่สังกัดพรรคนี้ ยังเคยเป็นสมาชิกพรรคเสรีนังคศิลา และพรรคสหประชาไทยอีกด้วย

เป็นไปตามคาด ด้วยจำนวน ส.ส.เก่า และอำนาจทางการเมืองที่ล้นเหลือ พรรคสามัคคีธรรม ได้รับเลือกตั้งเข้ามาจำนวน 79 คน จากจำนวน 360 ที่นั่ง เป็นอันดับที่ 1 จึงต้องจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยการสนับสนุนจากพรรคการเมือง 4 พรรค โดยการสนับสนุนจากพรรคการเมือง 4 พรรค คือ พรรคชาติไทย (74 คน) พรรคกิจสังคม (31 คน) พรรคประชากรไทย (7 คน) และพรรคราษฎร (4 คน) รวมเป็น 195 คน ขณะที่พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ พรรคปวงชนชาวไทย และพรรคมวลชน ร่วมกันเป็นฝ่ายค้าน

เกิดปัญหาตามมาอย่างไม่คาดฝัน เพราะขณะที่นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคกำลังจะรับมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่าผู้สื่อข่าวดันไปขุดเรื่องเก่า ที่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ “แบน” นายณรงค์ จากข้อสงสัยเรื่องการค้ายาเสพติด

ความตลกคือ ท่ามกล่างกระแสที่ประชาชน “ปฏิเสธนายกฯคนนอก” หรือนายกฯที่ไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ทั้งย้ำเจตนารมย์มาตลอด ปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลกลับไม่ยี่หระ และเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยก่อนหน้านั้น “บิ๊กสุ” ย้ำตลอดว่า “จะไม่เป็นนายกฯ” ก่อนจะ “เสียสัตย์เพื่อชาติ”

และทำให้พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 ถูกขนานนามจากสื่อมวลชนยุคนั้นว่า เป็น”พรรคมาร” เพื่อเปรียบเทียบกับ “พรรคเทพ” ที่หมายถึงพรรคฝ่ายค้าน 4 พรรค

หลังการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.สุจินดา เกิดกระแสต่อต้านจากสังคมมากมาย ถึงขั้นมีประชาชนชุมนุมประท้วงจำนวนมาก และในที่สุดนำไปสู่ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จนทำให้ในต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในปีเดียวกัน คือในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535

โมเดลสามัคคีธรรมประสบความสำเร็จในเรื่องของคะแนนเสียง แต่ตกต่ำในเรื่องของความชอบธรรม อย่างไรก็ตาม บางคนบางฝ่ายกลับมิได้เรียนรู้จากอดีต และพยายามเปลี่ยนสูตรเพื่อนำมาใช้ใหม่ โดยลดการสื่อสารที่จะเป็นพันธะกับสังคม ดังนั้น จึงไม่มีทางได้ยินคำพูดประเภทว่า

“ผมจะไม่กลับมาแล้ว” เพื่อเปิดทางให้ได้ “กลับมา” แบบเนียนๆ

พร้อมกับล็อกเป้าหมายในการดูด ได้แก่ ที่ จ.นครราชสีมา มีชือของ  นายภิรมย์ พลวิเศษ และนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ จ.ขอนแก่น เล็งไปที่ นายปัญญา ศรีปัญญา และนายประสงค์ ศรีวัฒน์ จากพรรคความหวังใหม่ ที่อีสานใต้ จ.ศรีสะเกษ เหล่ไปที่ นายอมรเทพ สมหมาย จากพรรคชาติไทยพัฒนา นายกล่ำคาน ปาทาน อดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย  และนายพิทยา บุญเฉลียว พรรคมาตุภูมิ จ.อุบลราชธานี  นายวีระศักดิ์ จินาภักดิ์  จ.สุรินทร์ นายยรรยง ร่วมพัฒนา  จ.อำนาจเจริญ  นายวิเชียร อุดมศักดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองอํานาจเจริญ นายชัยศรี กีฬา อดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชน  และนายบวรศักดิ์ คณาเสน อดีต ส.ว. สุดท้ายที่ จ.หนองบัวลำภู เล็งเป้าไปที่ นายสรชาติ สุวรรณพรหม พรรคภูมิใจไทย

“สามัคคีธรรมโมเดล” ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ทำกันมาตั้งแต่ยุค 0.1 ใครใคร่ปฏิบัติตาม ย่อมทำได้

ส่วนนักการเมือง จะไปตามน้ำ หรือแข็งขืนอยู่ที่เดิม ก็สุดแล้วแต่จินตนา

อย่างไรก็ตาม สำหรับพรรคเดิม ที่ใช้เวลา ใช้ความอุตสาหะ สร้างคน สร้างพรรค สร้างผลงาน หวังใช้ปูทางในศึกเลือกตั้งแล้ว ล้วนไม่แฮปปี้ กับวิถีทางเช่นนี้ เพราะต้อง “ทน” ดูสมาชิกพรรคที่ตนปั้นขึ้น โดนดูดไปต่อหน้าต่อตา สะท้อนผ่านอารมณ์บูดของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ออกมาโพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว ว่า

“สนามการเมืองไม่ใช่สนามเด็กเล่น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ให้ผู้ที่ต้องการเพียงแต่อยากจะมีอำนาจรัฐหรือคนที่ไม่ได้มาตามครรลองประชาธิปไตยมาทดลองงานหรือพยายามสืบทอดอำนาจ อย่าบังอาจดูถูกสติปัญญาของพี่น้องประชาชน”

แม้จะออกอาการหงุดหงิด แต่ยังมีความหวังว่าท้ายที่สุดแล้ว “พลังดูด” จะสิ้นฤทธิ์ในยุคประชาชน 4.0

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่