รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง กล่าวถึงภาพรวมการเมืองไทยว่า เป็นห้วงเวลาแห่งความยากลำบากของพรรคการเมืองเก่าหลายพรรค เพราะถูกกดดันด้วยกระแสประชาธิปไตย ขณะที่ผู้ปกครองปัจจุบันยังมีอำนาจอยู่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนเขาเลือกทิศทางของเขาแล้ว กลุ่มหนึ่งเอากองทัพ กลุ่มหนึ่งปฏิเสธกองทัพ อีกกลุ่มอาจจะมองเรื่องการปรองดอง เป็นต้น จึงเป็นหน้าที่ของพรรคการเมือง ในการตอบสนองทิศทางของประชาชน ถ้าแนวทางนั้นตรงใจประชาชนมาก ก็ได้เสียงมาก ถ้าแนวทางไม่ถูกใจ คะแนน ย่อมน้อยตาม เป็นเรื่องธรรมชาติในระบอบประชาธิปไตย
“ในระบอบประชาธิปไตย การประกาศจุดยืน และทางเลือกของพรรค เป็นสิ่งที่ถูกต้อง หนุนประชาธิปไตย เชียร์ทหาร ล้วนเป็นจุดยืน ที่สามารถขายได้ ที่สำคัญอย่าไปหักหลังประชาชน พูดคำไหน ต้องเป็นคำนั้น ถ้ายังประกาศจุดยืนไม่ได้ ติดอุปสรรคทางการเมือง ก็เสนอเป็นแนวทางมาให้ประชาชนตัดสินใจ อาทิ ประกาศไปเลยว่า สนับสนุนนายกฯคนใน แต่ถ้าไปไม่ไหว ก็ต้องเลือกนายกฯคนนอก เพราะไม่ต้องการให้ คสช. มีอำนาจเต็ม หรือสนับสนุนนายกฯคนใน ถ้าไปไม่ไหว ก็จะดันคนในอยู่ดี เพื่อยืนหยัดในแนวทางประชาธิปไตย เป็นต้น แต่ไม่อยากเห็นใครหักหลังประชาชน พูดอย่าง ทำอย่าง”
ส่วนการกลับมาตั้งพรรคการเมืองของนายธานี เทือกสุบรรณ น้องชายนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รศ. สุขุม ระบุว่า เป็นกลยุทธ์แก้เกมการเมือง หลังจากนายสุเทพ ทราบดีว่า การให้คนของ กปปส. เข้าพรรค ปชป. เพื่อไปเปลี่ยนให้คน ปชป. มาประกาศตัวหนุนทหารนั้น กระทำไม่สำเร็จ จึงจำเป็นต้องตั้งพรรคเอง เพราะอย่าลืมว่า ถ้าหากทหารแพ้ นายสุเทพ และ กปปส.ก็เจ็บหนักไม่แพ้กัน เพราะอุ้มชูกันขึ้นมา
เมื่อถามต่อถึงเรื่องโผดูดเข้าพรรคพลังประชารัฐ รศ.สุขุม ระบุว่า ต้องฟังหูไว้หู ว่าเป็นคนที่ คสช. ต้องการจริงๆ หรือบางคนปล่อยโผออกมาเพื่อเรียกคะแนนตัวเอง เพราะดูจากรายชื่อ บางคนเป็นนักการเมืองเกรด C D E F แปลกใจว่า คสช. จะเอาไปทำไม
สุดท้าย ต่อกระแสข่าวที่ พรรคหนุน คสช. ต้องการเสียง ส.ส.รวมกันให้ได้ 250 เสียง เพื่อไปสู้ในเกมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รศ.สุขุม กล่าวว่า ชั่วโมงนี้ เขาต้องการ 126 เสียง เอาไว้โหวตเป็นนายกฯ หลังจากเขาเป็นนายกฯแล้ว อำนาจเขาจะกลับมาเข้มแข็งเหมือนเดิม จากนั้นจึงค่อยหาทางนำ ส.ส. ในสภามาเข้าพวก จนได้ตามจำนวนที่ต้องการ