ถือเป็นประเด็นที่น่าติดตาม เป็นอย่างยิ่ง เพราะล่าสุดจากอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แสดงความเห็นผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า
“โจทย์ต่อไปของพรรคการเมืองไทย ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่า คำสั่งที่ 53/2560 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แปลว่ายอมรับความชอบธรรมของกติกาที่ว่า พรรคการเมืองเดิมจะมีสมาชิกเหลือเท่าไร ขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกที่มายืนยันตัวและจ่ายเงินค่าสมาชิกอย่างถูกต้อง ภายในวันที่ 1-30 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ทำให้พรรคที่มีสมาชิกเป็นล้าน เหลือไม่ถึงแสน พรรคที่มีสมาชิกหลักแสนเหลือแค่หลักหมื่น หลักพัน โดยหากจะแยกพรรคการเมืองเก่าเป็น 3 กลุ่ม ได้ดังนี้กลุ่มที่ 1 มีสมาชิกยืนยันเกินกว่า 5,000 คน มี 3 พรรค คือ1) ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ชาติพัฒนา”
ภาพที่นายสมชัยฉายออกมา เป็นภาพความจริงในที่พรรคการเมืองถูกแช่แข็งมาเป็นเวลานานกว่า 4 ปี
จนถึงปัจจุบัน มีอะไรหลายอย่างที่กำหนดกฏเกณฑ์ ข้อห้าม ไม่ให้พรรคการเมืองขยับตัว เพราะกังวลเรื่องความขัดแย้งจะกลับมา
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ว่า
ในเมื่อผลวินิจฉัยออกมาแล้วไม่ผิดแล้วมันเป็นยังไง ส่วนเรื่องการปลดล็อกเป็นเรื่องของผมที่จะพิจารณาหากจะปลดก็ต้องปลดเป็นกิจกรรมไปถ้าปลดล็อกทั้งหมดท่านรับรองได้หรือไม่ว่าจะไม่มีปัญหา ตอบมาสิแต่เดี๋ยวก็จะปลดล็อกซึ่งต้องมีการพิจารณาหารือกันว่าจะปลดล็อกอย่างไรบ้างไม่ใช่ให้อิสระเสรีแล้วใครจะรับรองกับผมได้ว่า มันจะไม่เกิดเหตุเดิมขึ้นอีก
อยากให้พรรคการเมืองและนักการเมืองทุกคนออกมารับประกันว่าการหาเสียงจะต้องประกาศนโยบายที่ตรงตามกฎหมายกำหนดไม่ใช่มองว่ากฎหมายที่ออกมาเป็นการบังคับมาตัดสิทธิมาเพิ่มภาระ แล้วที่ผ่านมาไม่มีเรื่องพวกนี้แล้วเป็นอย่างไรก็ลองมีเสียบ้างไม่ได้หรือ ประเทศนี้มันต้องมีกฎเกณฑ์ มีกฎหมาย กติกา
ตอนนี้ทาง คสช.กำลังกำลังดำเนินการคือ ขั้นตอนแรกคือการเตรียมความพร้อมเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง จากนั้นเป็นเรื่องการปลดล็อกที่จะหาเสียงอะไรต่างๆขอถามว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไรในการหาเสียง มีหาเสียงในสิ่งที่ดีๆหรือไม่ ด่ากันโจมตีกันไปมา แทนที่จะพูดในสิ่งที่พรรคจะทำอะไรตัวเองจะทำอะไรถ้าเป็นแบบนี้มันไปไม่ได้จะกลายเป็นว่าเริ่มบรรทัดฐานตั้งแต่การเลือกตั้แบ่งฝักแบ่งฝ่ายเข้าไปเป็นรัฐบาลเป็นฝ่ายค้านขอถามว่าพื้นที่ฝ่ายค้านจะได้อะไร
ส่วนหมายกำหนดการนัดพูดคุยกับพรรคการเมืองจะต้อง ไม่มีเงื่อนไข อยากคุยก็มาคุย การคุยทำไมต้องมีเงื่อนไขถ้าไม่มาก็อย่ามา ตนไม่ได้ง้อให้ใครมา ถ้าไม่มาประชาชนและสื่อก็ตัดสินว่าทำไมไม่มา
“นอกจากนี้ การหาเสียงจะต้องอยู่ในกรอบที่กำหนด โดยต้องขออนุญาตเป็นครั้งๆ ไปแต่บางอย่างอาจไม่ต้องขอ การปลดล็อกมันต้องเป็นแบบนั้น บางอย่างต้องขอบางอย่างไม่ต้องขอ ซึ่งต้องหาวิธีในการกำหนดให้บ้านเมืองมันสงบเรียบร้อยไม่ใช่ก่อนจะไปถึงประชาธิปไตยตีกันเละ ตรงนี้จะมีใครรับรองกับตนได้บ้างสื่อถ้ารับรองไม่ได้ก็ต้องพูดออกไป ไม่ใช่มากดดันรัฐบาลอยู่แบบนี้”
หากจับตามรูปแบบที่ คสช.กำหนดมานั้นเป็นปัญหากับพรรคการเมืองอย่างแน่นอน ด้วยระบบการเลือกตั้งใหม่ ที่หากยึดเงื่อนไขหนึ่งของคำสั่ง คสช. ที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีสมาชิกครบ5,000 คน ภายในหนึ่งปี นับแต่ 1 เมษายน 2560 มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง
แปลว่า ขณะนี้มีพรรคการเมืองเก่าที่สอบผ่านเกณฑ์ดังกล่าวแล้วเพียง 3 พรรค คือ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย และชาติพัฒนา จากพรรคการเมืองที่ยังคงอยู่ในระบบฐานข้อมูลของ กกต. ทั้งหมด 69 พรรค รวมถึงพรรคตั้งใหม่อีกกว่า 100 พรรค
โจทย์ของพรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่า ภายใต้การคงคำสั่ง คสช.ที่ยังไม่ให้พรรคทำกิจกรรมทางการเมือง ภายใต้คำสัญญาว่าจะเลือกตั้งในเดือน กุมภาพันธ์ ปี 2562 หรือภายใน 9เดือน ข้างหน้า จึงเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายนัก สำหรับพรรคการเมืองภายใต้เวลาที่คืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ
ในขณะเดียวกันท่าทีของผู้นำรัฐบาลยังไม่ผ่อนปรนลง หมายความว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่ย่อมทำงานยากตามลำดับไป ดังนั้นการเลือกตั้งใหม่ จึงไม่ง่ายอย่างที่นักการเมืองเคยสัมผัสมา ชะตากรรมของการเมืองไทยก็ไม่ต่างจากลูกไก่ในกำมือของ คสช.คือจะบีบก็ตาย
ถึงแม้จะคลายกำมือลงก็คางเหลือง
Ringsideการเมือง