หน้าแรก Article เปิด “สูตรการเมือง” และอนาคตนายกฯหน้าใหม่

เปิด “สูตรการเมือง” และอนาคตนายกฯหน้าใหม่

0
เปิด “สูตรการเมือง”  และอนาคตนายกฯหน้าใหม่
Sharing

ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน คือความจริงการเมืองไทย

ครั้งหนึ่ง แม้ “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะแบเบอร์ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง แต่มาวันนี้ เกิดความไม่ชัวร์เสียแล้ว เพราะพรรคพลังประชารัฐ ที่คาดว่าจะเป็นหนึ่งในพรรคหลักที่ชู “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯคนในแบบหล่อๆ น่าจะกวาด ส.ส. แตะหลัก 100 ที่นั่ง

รอจับมือกับ สว. ก่อนกวาดเสียงพรรคเล็ก ตั้งรัฐบาลเท่ห์ๆ ตามการวางเกมของ “สถาปนิกการเมือง”

ที่ล่าสุด กลับเดินเครื่องไม่ไหลลื่น

ถึงวันนี้ พรรคพลังประชารัฐ มีอดีต ส.ส.มาร่วมชายคาแค่ 50 – 60 คนเท่านั้น และยังไม่รู้ว่าหลังเลือกตั้ง จะรอดเข้าไปนั่งเป็น ส.ส.ได้กี่คน

สูตร พรรคหนุน คสช. รอจับมือสภาสูง ชูมือ “บิ๊กตู่” จึงหาใช่สูตรการเมืองเดียวอีกต่อไป

สำหรับสูตรที่กูรูการเมืองหยิบมาวิเคราะห์กัน มีหลายสูตร

เริ่มกันที่สูตรแรก พรรคเพื่อไทย – อนาคตใหม่ จับมือพรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก รวมเสียงให้ได้ 376 เสียงตั้งรัฐบาล

พรรคเพื่อไทยต้องได้เสียงทะลุ 250 เสียง ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ และแนวร่วม ต้องได้เกิน 50 เสียง รวมกันให้ได้ 300 เสียง เป็นเสียงข้างมากในสภาล่าง ก่อนจับมือกับพรรคแนวร่วม อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น

ความยากคือ ด้วยระบบการเลือกตั้ง ณ ปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบบบัตรเดียว เป็นไปได้ยากมากที่พรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเกินครึ่งหนึ่ง เพราะนั่นหมายถึงการต้องเข้าไปเจาะในพื้นที่ของพรรคอื่นซึ่งมีผลงานฐานเสียงแน่นปึ๊ก

หากย้อนดูการเลือกตั้งปี 2554 ขนาดใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ พรรคเพื่อไทยโอกาสโกยแต้มจากกลุ่ม “รักพี่เสียดายน้อง” ก็ยังได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง

ไม่นับ พรรคอนาคตใหม่ ที่ไม่มีพื้นที่เป็นของตัวเอง ต้องได้เสียงเฉลี่ยถึง 3 ล้านเสียงขึ้นไป

“โจทย์หิน”

หากมีปาฏิหาริย์การเมืองเกิดขึ้น สูตรข้างต้นเกิดขึ้นจริง นายกฯรัฐมนตรี จะต้องเป็นคนที่ได้รับการยอมรับจากทุกพรรคร่วมรัฐบาล รวมไปถึงสถาบันรอบข้าง

แคนดิเดทปรากฏชื่อ อาทิ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย เป็นต้น

ต่อด้วยสูตรการเมืองที่ 2 ว่าด้วยการจับมือของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก ความยากของสูตรนี้ หาใช่เรื่องของจำนวน ส.ส.

เชื่อขนมกินได้ว่า พรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน ส.ส.รวมกันเกิน 300 เสียงแน่นอน แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ 2 พรรคใหญ่ จะจับมือกันได้อย่างไร เพราะอุดมการณ์ต่างกันสุดขั้ว

คือฝ่ายนิยม “ทักษิณ” กับฝ่าย “ไม่นิยมทักษิณ” ที่กลายเป็นเงื่อนไข ไม่ให้ทั้ง 2 พรรค ต่อกันติด

เงื่อนไขการทำภารกิจการเมืองคือ พรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคอันดับ 1 ต้องเสียสละตำแหน่งสำคัญให้พรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้น แคนดิเดทนายกฯรัฐมนตรี น่าจะเป็น “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่หมายมั่นปั้นมือจะกลับมาแก้มือในตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง หรืออาจจะเป็นแคนดิเดทคนอื่นในพรรคประชาธิปัตย์ ในกรณีที่นายอภิสิทธิ์เจอแรงต้าน จากวีรกรรมในอดีตจนไปต่อไม่ไหว

มากันที่สูตรการเมืองที่ 3 พรรคประชาธิปัตย์ พรรคหนุน คสช. จับมือพรรคเล็ก ตั้งรัฐบาล

ว่ากันว่า สูตรนี้ มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะต้องการเสียง ส.ส.เริ่มต้นเพียง 126 เสียง เพื่อจับมือกับ ส.ว. เลือกนายกฯ ก่อนจะใช้ “พลัง” ที่มีอยู่ไปดึง ส.ส. ให้ได้เสียงทะลุ 250 เสียง รองรับเกมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไปจนถึงผ่านงบประมาณ

หะแรกจะเป็นการจับมือของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคหนุน ส.ส. ก่อนดึงกลุ่มพรรคเล็ก พรรคกลางมาเข้าร่วม ความยากอยู่ที่การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะหลายคนออกแอ็กชั่นปฏิเสธ คสช. อย่างไรก็ตามหากจับอาการล่าสุดจะพบว่าแรงต้าน คสช. ลดลงไปมาก หลังจากสมาชิกคนสำคัญของพรรค อาทิ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ยืนยันไม่รื้อรัฐธรรมนูญ

หากอ่านความเก๋าเกมของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ถ้ามีเจตนาต้องการจะจับมือกับฝ่ายหนุน คสช. จริง สามารถถอยนายอภิสิทธิ์ ที่ค้านฝ่ายกองทัพ ให้ไปอยู่นอกวงจรอำนาจ ด้วยการเปิดทางให้ลาออกรักษาสปีริตทางการเมือง หากแพ้เลือกตั้ง

ก่อนคัดเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่มาพร้อมกับนโยบายจับมือกับกองทัพ พาชาติเดินหน้า

ถ้าเป็นไปตามสูตรนี้ นายกรัฐมนตรี น่าจะเป็นใครสักคนในพรรคประชาธิปัตย์ เพราะน่าจะได้เสียงมากกว่าพรรคพลังประชารัฐ และพรรค กปปส. แต่หากบารมีไม่ถึง หรือพลิกล็อกได้คะแนนน้อยกว่าฝ่ายหนุนรัฐบาลปัจจุบัน จะเป็นโอกาสให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คัมแบ็ก

ทั้งนี้เพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคม โอกาสยังเปิดกว้างให้กับหัวหน้าพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มีภาพสะอาด นักเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และมีไมตรีกับทุกฝ่าย เข้าทางกลุ่มเบื่อ “สีเสื้อ”

อีกหนึ่งคนที่น่าจับตามองคือ “นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์” ที่ได้ภาพนักวิชาการ สายพิราบ รับประกัน ไม่พาชาติวนลูปความขัดแย้ง

ต่อกันที่สูตร 4 คือ พรรคหนุน คสช. จับมือกับพรรคกลาง พรรคเล็ก บวกเสียง ส.ว. เป็นสูตรที่คราแรกเชื่อว่าน่าจะเป็นสูตรสำเร็จ เข็น คสช. เข้ามาอยู่ในสภาหลังเลือกตั้ง

แต่ยิ่งเวลาผ่านไป โอกาสำเร็จยิ่งเหลือน้อยลงทุกที เพราะที่หมายมั่นปั้นมือจะให้พรรคพลังประชารัฐ และกองเชียร์ คสช. ดูด อดีต ส.ส. มาร่วมพรรค ให้ได้หลัก 100 คนอัพ ก่อนไปโกยคะแนนในสนามเลือกตั้ง

หวังว่าจะได้เสียงในสภา 126 ที่นั่ง เพื่อบวกกับ ส.ว. ชูฝ่ายผู้มีอำนาจเป็นนายกฯ

หลังจากนั้นจึงไปดึงพรรคเล็ก พรรคกลางมาเข้าร่วม

ใช้เหตุผลเรื่องความมั่นคงของรัฐบาล คือ ความมั่นคงของประเทศ

แต่ถึงบัดนี้ พรรคหนุน คสช. เองกลับไม่สามารถดูดนักการเมืองเข้าค่ายได้ตามเป้า เพราะอดีตนักการเมืองจำนวนมาก ไม่เล่นตามเกม คสช. และยังเลือกอยู่ค่ายเดิม เพื่อรอเทียบเชิญในช่วงหลังเลือกตั้งในตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่า

จึงทำให้แผนตั้งพรรคหนุน คสช. เข้าสู่สภาวะเอวังไปโดยปริยาย

สูตร 5 สูตรนี้ จะเกิดขึ้นได้ หากสถานการณ์หลังเลือกตั้งป่วนหนัก คือพรรคเบอร์ 1 เบอร์ 2 ไม่จับมือกัน และคะแนนระหว่าง 2 พรรคทิ้งห่างกันไม่แตะ 50 เสียง ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตัวเองอยู่ในเกม ล็อบบี้กลุ่มการเมืองให้มาร่วมงาน กลายเป็นความขัดแย้งยืดเยื้อ หากจบในสภา ก็เชื่อว่ามีรัฐบาลปกติหลังเลือกตั้ง แต่หากบานปลาย ลากมวลชนลงถนน

มีโอกาสที่กองทัพจะเรียกทุกฝ่ายมาคุยเพื่อตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติเพื่อความปรองดอง” โดยมีหลายพรรคร่วมวงไพบูลย์ จะยกเว้นแน่นอน ก็เพียงพรรคเพื่อไทย และแนวร่วมอนาคตใหม่ ที่ต้องโบกศาลา รักษาจุดยืนต้านกองทัพ และการปฏิวัติ อันเป็นภาวะจำยอม ต้องเดินไปตาม “เกมการเมือง” ที่สถานการณ์ได้ลิขิตไว้ ส่วนนายกฯรัฐมนตรี มิต้องนำพาเรื่อง “คนนอก-คนใน” เพราะถ้าเข้าอีหรอบนี้เท่ากับนายกรัฐมนตรีจะเป็น “ใครก็ได้”

ให้จับตาดูกลุ่มพลเรือน”ไฮพาวเวอร์” ที่จะได้นั่งเอ้าอี้งาช้าง แคนดิเดท มีทั้งนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าแบงค์ชาติ ไปจนถึงนายอานันท์ ปันยารชุน

สุดท้ายสูตรที่ 6 คือสภาวะถอยหลังทางการเมืองอย่างที่สุด จะเกิดขึ้นในกรณีที่ ทุกฝ่ายการเมือง มิอาจรอมชอมหาจุดร่วมกันได้ โดยเฉพาะกลุ่มพรรคใหญ่ และฝ่ายอำนาจ ส.ว. ที่ชิงชังกันอย่างซับซ้อนในโครงสร้างการเมืองที่สุดแสนจะพิลึกกึกกือ นำพาสังคมให้เกิดความขัดแย้งอย่างหนัก

เมื่อนั้นฝ่ายกองทัพจะออกมา “ยึดอำนาจ”

กลับเข้าสู่อีหรอบเดิม

ส่วนนายกฯ คงหนีไม่พ้น ผบ.ทบ. ณ เพลานั้น

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่