การเลือกตั้งที่จะถึงถือเป็นการวัดกันของบรรดาพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้ง เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2562 ที่ออกแบบโดยนายมีชัย ฤชุพันธ์ที่บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้า ให้ผู้ใช้มากที่สุด ทั้งข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นฝ่าบบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ ปวดหัวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างแน่นอน แต่กระนั้นก็ตามที่น่าสนใจคือการวางระบบเลือกตั้งใหม่ที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ได้ประกาศใช้
ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวก็เป็นการวางระบบใหม่ที่ทำให้พรรคการเมืองทำนโยบายยากรวมทั้งการให้องค์กรอิสระอยู่เหนือฝ่ายบริหาร แต่เมื่อประกาศใช้แล้วนักการเมืองทุกคนก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นไม่ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไรก็ตามก็ต้องปรับตัวตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดมา
แต่ในสนามการเมืองเป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองที่น่าสนใจมากว่าใครจะกำชัยในการเลือกตั้ง หากมองภาพรวมแล้วก็ต้องบอกว่าเป็นการแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองเก่ามากกว่าพรคการเมืองใหม่ เพราะถือเป็นพรรคที่มีตัวเลือกเดิมที่เคยมีผลงานมาแล้วจึงพร้อมเดินหน้าหาเสียงในขณะเดียวกันนักการเมืองเก่าก็มีฐานเสียงอยู่แล้วจึงหาเสียงไม่ยาก แต่ก็จะประมาทไม่ได้เพราะประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้นจากการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่
ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เปิดประเด็น “โชว์จุดขาย” เป็นพรรคคนใต้ เพื่อยึดหัวหาดพื้นที่ด้ามขวานหลังจากไม่อาจเจาะพื้นที่ของพรรคเพื่อไทยได้สำเร็จ ขณะเดียวกันก็เสนอแผนยุทธศาสตร์ท้องถิ่น เพื่อพัฒนาพื้นที่อีสาน เหนือ กลางแข่งกับพรรคเจ้าถิ่น
ทว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมาแสดงผลงานออกมาชัดเจน พรรคประชาธิปัตย์ตีโจทย์ผิด
ส่งผลให้ตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถเอาชนะการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยได้
ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะปักหมุดใหม่โดยการเดินไปร่วมกับ กปปส.ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่อ้างถึงการนำเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ทำให้ประเทศเข้าสู่จุดอับ
การเมืองไทยเดินมาสู่ทางตัน กระทั่ง คสช. โผล่มาผ่าทลายหินผา พาชาติเดินหน้า ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.
จากวันนั้นจนถึงวันนี้บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ไม่อยู่กับร่องกับรอย คือมีทั้งเชียร์และหัก คสช.ในพรรคเดียวกัน หลายฝ่ายเชื่อว่านี่เป็น “ลูกกั๊ก” ของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อตีคะแนนทั้งจากฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายกองทัพ
สิ่งที่น่าจับตามองคือ กลุ่ม กปปส.กับประชาธิปัตย์.มาถึงวันนี้ เส้นทางระหว่างสุเทพกับ พรรคปชป.เหมือนจะเป็นเส้นขนานเพราะล่าสุดนายสุเทพพร้อมคณะ กปปส.ตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยขึ้นมา โดยมีบรรดา ส.ส.อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์.บางส่วนมาร่วมหัวจมท้ายด้วย งานนี้ประชาธิปัตย์บาดเจ็บไปไม่น้อย
และการที่บรรดา ส.ส.ของพรรคบางส่วนไปร่วมกับเวที กปปส.รวมทั้งโจมตีโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นี่เองทำให้คะแนนนิยมในพรรคประชาธิปัตย์ลดลงไปเยอะมากในพื้นที่อีสาน
จากจุดนี้เองอาจจะส่งผลต่อการเลือกตั้งในปี 2562 ด้วย เพราะมีแกนนำกปปส.อีสานบางคนโจมตีภาคอีสานไว้บนเวทีเป็นแผลลึกที่รักษาไม่หาย
แน่นอนการพูดเช่นนี้ย่อมกระทบต่อฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่อีสานแน่นอน จากเดิมที่ลดลงไปแล้วอาจจะลดลงต่อเนื่องไปอีก
จากเดิมประชาธิปัตย์มี ส.ส.อีสานจำนวนหนึ่ง อาจจะลดลงบไปไม่ว่าจะเป็น อุบลราชธานี หรือแม้แต่ที่อำนาจเจริญ ก็อาจจะไม่มี ส.ส.ประชาธิปัตย์ปักธงได้ ซึ่งคนที่รู้ดีแต่เก็บงำไว้คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และนายวิฑูรณ์ นามบุตร แกนนำหลักในพื้นที่อีสาน ของประชาธิปัตย์
การปักธงในพื้นที่อีสานภายใต้การเลือกตั้งใหม่อาจจะต้องจับตามองมากขึ้นว่าสุดท้ายประชาธิปัตย์ จะเหลือส.ส.ในพื้นที่นี้กี่คน
กลับกัน สำหรับพรรคภูมิใจไทย พื้นที่อีสาน ยังถือเป็นที่มั่นที่แข็งแกร่ง ยิ่งในระบบการเลือกตั้งใหม่ ที่ไม่มีคะแนนตกน้ำ
คะแนนของผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย ที่การเลือกตั้งปี 2554 เคยเป็นความสูญเปล่าทั้งที่หลายเขตแพ้ไปเพียงเฉียดฉิว แต่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย คะแนนเหล่านี้ จะกลับมามีค่ามหาศาลอีกครั้งหนึ่ง
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) กล่าวว่า
“ในอดีตพรรคเพื่อไทยกับภูมิใจไทย เคยมีความสัมพันธ์ร่วมกัน คนในพื้นที่ จึงไม่ได้นึกถึงพรรคอื่นอยู่แล้ว เรื่องนี้ได้มีการหารือกันอยู่พอสมควร
สำหรับคนอีสานจำนวนมาก เขามองว่าพรรคภูมิใจไทยมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลในอนาคตสูงมาก ถ้าเป็นฝ่ายค้าน ความคิดของเขาที่จะช่วยเหลือประชาชนก็เป็นไปได้ยาก เพราะเป็นพรรคที่สามที่สามารถไปซ้ายหรือขวาก็ได้ แต่โอกาสจะเป็นจริงหรือไม่ต้องดูหลังเลือกตั้ง”
เป็นบทสรุปที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ “เจ็บจี๊ด” ไม่น้อย
Ringsideการเมือง