ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณปี พ.ศ. 2562 ว่า การตั้งงบถึง 3.3 ล้านล้านบาท เป็นการจัดทำงบประมาณที่มีขนาดรายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสะท้อนบทบาทของภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้นทางเศรษฐกิจ แต่ที่น่ากังวลคือ การตั้งเป้าขาดดุลสูงถึง 4.5 แสนล้านบาท ตรงนี้ ควรลดการขาดดุล เพื่อลดความเสี่ยงของวิกฤติฐานะการคลังในอนาคต
นอกจากนี้ยังเล็งเห็นว่าต้องมีการบริหารการชำระหนี้สาธารณะ เพื่อมิให้กระทบสภาพคล่องในอนาคต
“รายจ่ายประจำยังคงเพิ่มขึ้น 4.7% ขณะที่รายจ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มเพียง 1% ตรงนี้จะเห็นความไม่สอดคล้องกันระหว่างรายรับ กับรายจ่ายในอนาคต ซึ่งจากนี้ จะเห็นการก่อหนี้เพิ่มพูน
สะท้อนว่ายังไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณแต่อย่างใด เพราะรายจ่ายเพื่อการลงทุนยังคงมีสัดส่วนเพียงแค่ 22% ซึ่งควรปรับโครงสร้างให้เพิ่มเป็น 30% ของงบประมาณรายจ่ายและต้องทำควบคู่กับการปฏิรูประบบราชการรัฐบาล และ สนช. ต้องมีการบริหารให้ได้ว่าโครงการต่างๆที่ปรากฎในงบประมาณโครงการไหนมีความสำคัญ มีความจำเป็นต่อประเทศชาติและประชาชน”
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การจัดทำงบประมาณที่ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เนื่องจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทำให้ระบบการคานอำนาจและการตรวจสอบงบประมาณไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้ถูกตั้งคำถามในเรื่องของหลักธรรมาภิบาลในการจัดทำงบประมาณให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ประเทศและการปฏิรูป
อย่างไรก็ตามเมื่อประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยแล้ว ขอเสนอให้ ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาคเอกชน สามารถมีส่วนร่วมในการนำเสนอ งบประมาณแผ่นดิน รวมไปถึงขั้นตอนในการตรวจสอบการใช้งบด้วย