การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 มีอะไรหลายอย่างน่าสนใจ ด้วยพรรคการเมืองทั้งหมดที่มีอยู่ปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 100 พรรค ก็เป็นโอกาสให้กับบรรดาพรรคการเมือง นักการเมืองเสนอตัวเป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่กระนั้นก็ตามด้วยการเลือกตั้งในรูปแบบใหม่ ทุกพรรคต่างเสนอตัวแต่ด้วยการเมืองเป็นเรื่องของความศรัทธาใครจะสร้างศรัทธาให้ชาวบ้านได้มากกว่ากัน นักการเมืองทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ต่างลงพื้นที่ในการสร้างความนิยมให้กับประชาชน ได้มากกว่ากัน ประชาชนจะเป็นผู้ตอบคำถามนั้น
ในสนามการเมืองโอกาสนักการเมืองหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ใครมีโอกาสมากกว่ากัน คงจะลุ้นกันหนัก นักการเมืองรุ่นเก่าเขาคิดอย่างไรกับเรื่องนี้
นายนิกร จำนงค์ ผู้อำนายการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ว่า ในเรื่องของผู้สมัครส.ส.ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ต่างก็โอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งก็ถือว่ามีโอกาสเท่าๆกันทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงนั้นว่าบรรยากาศทางการเมืองจะเป็นเช่นไร หากบรรยากาศเปิดก็จะพบว่าผู้สมัคร ส.ส.ทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าก็มีโอกาสพอๆกัน ในส่วนของโอกาสในการชนะระหว่างพรรคใหม่กับพรรคเก่า ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองเป็นสำคัญ
พรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่าก็จะมีประเด็นว่า การจัดตั้งพรรคการเมืองแต่ละพรรคตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะมาจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นประเด็นสำคัญนอกจากนี้ ประเด็นของฐานพรรคการเมืองก็สำคัญ เพราะประเด็นนี้จะมีตัวแปรคือ กลุ่มการเมืองที่สนับสนุนพรรคการเมืองก็มีโอกาส อาทิ ทางอีสานกลุ่มคนเสื้อแดงก็น่าจะกำหนดว่าพรรคไหนจะชนะการเลือกตั้ง ภาคใต้ก็จะมีฐานของกลุ่ม กปปส.และพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะต้องชิงกันว่าใครจะได้เปรียบมากกว่ากันในการเลือกตั้ง ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองที่เป็นของกล่มอำนาจก็ยังมีโอกาสในการชนะการเลือกตั้งเหมือนกัน
ในขณะเดียวกัน พรรคขนาดกลางก็จะเป็นพรรคการเมืองที่สอดแทรกได้ตลอดเวลาทุกพื้นที่ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ส.ส.เก่าในพรรคการเมืองก็จะมีโอกาสในการเลือกตั้งตามพื้นที่เดิมมากกว่า อยู่ที่ใครมีฐานเสียงเท่าไหร่ อยู่ในพื้นที่จำเพาะของแต่ละคนมากกว่า ทั้งนี้ฐานเสียงมีความสำคัญมากในการเลือกตั้งเพราะผู้สมัครแต่ละคนก็จะมีฐานเสียงที่แตกต่างกันไป
การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นแบบ 3 เส้าการเมืองไทย เพราะหากจะบอกว่าพรรคเก่าได้เปรียบในเรื่องการรู้จักก็ไม่เสมอไปเพราะพรรคใหม่ก็จะได้เปรียบในเรื่องของใหม่ มีอะไรนำเสนอใหม่ๆ แต่เสียเปรียบในเรื่องของฐานคะแนนเสียง และพรรคใหม่ที่มาจากฐานอำนาจก็น่าสนใจเพราะมีคะแนนจัดตั้งพอสมควร ในขณะเดียวกันความเป็นพรรคความเป็นสีเสื้อก็ยังมีอยู่ ความขัดแย้งก็จะแยกขั้วในเรื่องการลงคะแนนเลือกตั้งเช่นกัน
สรุปได้เลยว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยระบบเลือกตั้ง ด้วยรูปแบบใหม่ ก็อาจจะเป็นการเลือกตั้งที่โกลาหล อลหม่าน มากที่สุด พรรคขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ขนาดเล็กจะช่วงชิงความได้เปรียบในสนามการเมือง การต่อสู้ที่จะให้ได้ทุกๆคะแนน ดังนั้นการเลือกตั้งที่ใช้กลยุทธ์ ทุกๆกลยุทธ์เลย การเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญออกแบบมาเป็นการเลือกตั้งที่โกลาหลมาก เพราะทุกอย่างใหม่หมด บรรดาผู้สมัครเป็นทั้งมิตรและศัตรูในสนามเลือกตั้ง
หลังจากเลือกตั้งจบ ปัญหาไม่จบเพราะรัฐบาลที่ได้มาจะเป็นรัฐบาลผสม และไร้เสถียรภาพทางการเมืองรวมทั้งด้วยรูปแบบรัฐธรรมนูญที่มีข้อบังคับหยุมหยิมและการคงอยู่ของอำนาจ คสช.ก็จะเป็นอุปสรรคและอาจจุส่งผลให้รัฐบาลหน้ามีอายุสั้นมากด้วย
นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าว่า พรรคการเมืองใหม่ต้องออกแบบและใช้กลยุทธ์ทางการเมืองสูงมาก ออกแรงเยอะในการสร้างความรับรู้ของประชาชน ในขณะเดียวกันพรรคเก่าจะได้เปรียบเพราะประชาชนรู้จักแล้ว พรรคใหม่ก็จะเหนื่อยหน่อย นอกจากนี้ผู้สมัครในนามพรรคการเมืองใหม่หรือที่ทำกิจกรรมให้พรรคการใหม่ จะต้องเป็นคนที่ประชาชนรู้จักเยอะด้วย พร้อมกันนี่สนามการเมือง เรื่องการต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง การมีอำนาจรัฐไม่ว่าจะได้เปรียบเสมอไป เพราะในความเป็นจริงพรรคการเมืองเก่าหรือนักการเมืองเก่าก็จะได้เปรียบเพราะมีผลงานในอดีตก็จะได้เปรียบ
ทั้งนี้ อำนาจรัฐมีผลในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่เสมอไปเพราะ การนำเสนอโครงการของรัฐผ่านผู้นำท้องถิ่น ก็ต้องมาดูว่าสิ่งที่พี่น้องทำไปจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน คำตอบยังไม่ชัด การดำเนินการของราชการก็จะเป็นปัญหาเพราะมีขั้นตอนมาเป็นอุปสรรคในการตอบสนองความต้องการของประชาชน
ดังนั้นสิ่งที่เห็นชัดคือ การเลือกตั้งครั้งหน้า ประชาชนจะต้องเลือกการปกครองประเทศระหว่าง ระบอบประชาธิปไตย หรือ ระบอบราชการ
Ringsideการเมือง