ถือว่าไม่เป็นเรื่องเกินเลยจากการคาดการณ์ของฝ่ายการเมืองมากนัก สำหรับผลการหารือกันของรัฐบาลที่นำโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฏหมาย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธและคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.เพราะผลสรุปที่ออกมาจากห้องประชุมออกมาในทิศทางเดียวกันคือยังไม่สามารถสรุปได้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งเพราะสุดท้ายต้องนำผลของการหารือทั้งหมด ส่งให้กับผู้นำคสช.เป็นผู้ฟันธงลงมาว่าจะเอาอย่างไรกับการเมือง การพบกันครั้งนี้จึงเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้นไม่ไช่มาประชุมเพื่อให้ได้ข้อสรุปทั้งหมด
เรื่องแบบนี้เป็นเพียงการทำให้ดูเหมือนว่าคสช.และรัฐบาลให้ความสำคัญกับการเมืองเพื่อลดกระแสการโจมตีจากฝ่ายการเมือง แต่คนที่เข้าหารือ อย่างนายวิษณุ เครืองาม ที่เป็นกูรูกฏหมายคนหนึ่งมีคำตอบในใจอยู่แล้วว่าผลการหารือคืออะไร ดังนั้นหลังการประชุมนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาบอกกับบรรดาสื่อมวลชนที่ไปรอทำข่าวการประชุม ว่า
ที่ประชุมได้ข้อสรุป 4 ข้อที่จะเสนอคสช. และนายกฯ พิจารณาในการแก้ไขปัญหาได้แก่ 1. จะทำอย่างไรเกี่ยวกับการการประชุมใหญ่ของพรรค อะไรที่ทำได้หรือไม่ได้ 2. คำว่าหัวหน้าสาขาพรรคที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับหลายขั้นตอนคือการประชุมใหญ่ ไพรมารีโหวต การคัดเลือกรับสมัครผู้รับเลือกตั้งที่มีหน้าสาขาพรรคอยู่ จะทำอย่างไรในขณะที่ยังไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้
3.การแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่จะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองและประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะกลายเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง จะยอมให้ทำได้ขนาดไหน และ4. การบริหารจัดการ กำหนดเวลาต่าง ๆ ที่อาจจะมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น อาจไปผูกกับการประกาศใช้กฎหมาย 2 ฉบับ ผูกการเลือกตั้งท้องถิ่น ผูกกับกกต.ชุดใหม่ พร้อมกับเสนอ 3 ทางออก คือ พ.ร.ก. ,พ.ร.บ. และมาตรา 44 เพื่อคลายปัญหาที่ติดขัด คลายล็อกแต่ไม่ใช่ปลดล็อก เพราะหากปลดล็อกไปทั้งหมดก็จะสะดุดบางอย่างได้
แต่กระนั้นก็ตามหากดูท่าทีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ก็น่าจะมีคำตอบอยู่แล้ว ว่า เรื่องปลดล็อคพรรคการเมืองทำกิจกรรม หรือแม้แต่เรื่องการเมือง รอไปก่อนยังไม่ว่างมาพิจารณาให้ เพราะตอนนี้กำลังมีความสุขกับการอยู่ในอำนาจ ดังนั้นการคายอำนาจที่มีอยู่ก็รอไปก่อน นักการเมือง พรรคการเมืองห้ามขยับ ด้วยข้ออ้างสุดคลาสสิคว่า กฏหมายยังไม่แล้วเสร็จ จะเกิดความวุ่นวาย คนจะออกมาตีกัน การหาเสียงโจมตีกัน ก็ไม่มีอะไรใหม่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกดหัวพรรคการเมืองไว้ก่อน
ดังนั้นการหารือของบรรดาองคาพยพของคสช.ที่ผ่ามหลายครั้งจึงเป็นเพียงพิธีกรรมทั้งนั้น ไม่มีอะไรในกอไผ่เป็นการสร้างภาพให้ดูว่าไม่ปล่อยปละละเลย เพราะท่าทีของ หัวหน้ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงความคืบหน้าการประกาศใช้ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และที่มาส.ส. หลังสภานิติบัญญติแห่งชาติ (สนช.) ส่งเรื่องมายังนายกรัฐมนตรีว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูจวินิจฉัยแล้วว่า ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เมื่อ สนช. ดำเนินการส่งมาที่รัฐบาล ทางรัฐบาลก็นำเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ
แต่ไม่ใช่มาตีความตรงนี้อีกว่า เสนอมาแล้วเมื่อไม่ขัดแย้ง ก็ต้องดำเนินการเลือกตั้งทันที โดยกฎหมายได้เขียนไว้อยู่แล้ว คำสั่ง ม.44 ก็มีอยู่ เลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 62 ไม่ต้องมาถามตรงนี้ มันเป็นตามขั้นตอนอยู่ “เลือกตั้งอย่างไรก็ ก.พ. ผมพูดยืนยันแบบนี้”
ในขณะเดียวกันก็ยังไม่แน่นอนมากนักว่าจะได้เลือกตั้งตามโรดแมฟที่นายกรัฐมนตรีกำหนดเมื่อ นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. กล่าวว่า ถึงพ.ร.ป.ทั้งสองฉบับจะผ่านการพิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็ตาม จะยังไม่สามารถนับหนึ่งกระบวนการจัดการเลือกตั้งได้ เพราะต้องรอไปอีก 90 วัน เพื่อให้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ถึงจะมีผลบังคับใช้
กรณีดังกล่าวตนมองว่า เป็นผลดีเพื่อให้พรรคการเมืองเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง และทันทีที่ครบ 90 วัน รัฐบาลกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะหารือกันเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งให้จัดขึ้นภายใน 150 วัน ดังนั้นเมื่อคำนวณระยะเวลาแบบเต็มเพดานการเลือกตั้งจะมีขึ้นภายใน 11 เดือนนับจากเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งจะไปตรงกับเดือน เม.ย. 2562 แต่หากรัฐบาลต้องการให้จัดการเลือกตั้งในเดือนก.พ.2562 ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศไว้ ก็จะต้องไปหารือกับ กกต.ให้ประกาศวันเลือกตั้งภายใน 90 วัน โดยไม่ต้องใช้เวลาถึง 150 วัน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็จะสามารถจัดได้ตามกรอบเวลาเดิมได้
บทสรุปสุดท้ายที่ออกมาจาก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฏหมาย ถ้ายังไม่แก้ไขล็อกทั้งหมดจะทำให้การเลือกตั้งไม่ทัน กุมภาพันธ์ 2562 ใช่หรือไม่ ไม่น่าจะกี่ยว แค่จะทำให้ยุ่งยากต่อทางกายภาพของพรรคการเมืองเท่านั้น เช่น หากบอกว่าการหาสมาชิกติดขัดอยู่ที่ล็อกเราจะคลายล็อกให้ แต่พอคลายแล้วหลายพรรคก็บอกว่ายังหาไม่ได้อยู่ดี เพราะติดขัดเรื่องคุณสมบัติ ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องของกฎหมายแล้วส่วนจะให้ยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในกุมภาพันธ์ ปี 62 ถึงวันนี้คงไม่กล้าพูด เป็นความคาดหมายที่บริหารจัดการได้ หากมีตัวแปรบางอย่างที่สมเหตุ สมผล สมจริง ก็บวกลบกันบ้าง แต่ต้องอธิบายได้
ถึงวันนี้มีเรื่องของการเลือกตั้ง อีกหลายล็อคที่ยังต้องติดตามกันต่อไป ว่า สุดท้ายแล้วจะมีการปลดล็อคพรรคการเมืองเมื่อไหร่ หรือจะปล่อยให้พรรคการเมืองและนักการเมืองเริ่มทำกิจกรรมอะไรมากน้อยแค่ไหน แต่ด้วยระบบการเลือกตั้ง แบบใหม่ ด้วยเงื่อนไขและเงื่อนเวลา การเลือกตั้งทั่วไป จึงมีความหมายมากสำหรับบริบทการเมืองไทยในอนาคต