วันที่ 22 มิ.ย.61 ที่ห้อง 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งศาลฎีกา คดีที่นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กับพวกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ 15 คน เป็นโจทก์ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 5 คน ฐานผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรณีเมื่อวันที่ 20-27 พ.ค.57 พวกจำเลยและบุคคลอื่นร่วมกันประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร โดยไม่มีเหตุ ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ม.2 และร่วมกันล้มล้างเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนและของโจทก์ถูกยกเลิกไป
คดีนี้ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง โดยมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดี และโจทก์ได้ยื่นฎีกา ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับคดีโจทก์ไว้ไต่สวนมูลฟ้องด้วย
ทั้งนี้ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ไม่รับไต่สวนมูลฟ้อง
ขณะที่ นายอานนท์ นำภา ทนายความ กล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ว่า ศาลฎีกาเห็นว่าแม้การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์กับพวกจะเป็นความผิดเรื่องของกบฏ แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนิรโทษกรรมให้กับ คสช.แล้ว จึงหลุดพ้นจากการกระทำความผิดทั้งปวงตามรัฐธรรมนูญ พวกตนก็เคารพในการตัดสินของศาล และถือว่าที่ผ่านมาได้ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์กับพวกเพื่อชี้ให้ศาลเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดเรื่องของการรัฐประหาร ซึ่งศาลก็เห็นว่าเป็นความผิด แต่ด้วยรัฐธรรมนูญที่ออกมา ทำให้หลุดพ้นจากความผิด จากนี้พวกตนก็เดินหน้าจะต่อสู้ทางการเมืองกันต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐวุฒิ ได้เข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าวดังกล่าวด้วย ในตอนท้ายได้สอบถามทั้งที่น้ำตาคลอ ถึงการเรียกร้องความเป็นธรรมที่มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ เพราะเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และประกาศชัดว่า ยอมรับมติป.ป.ช. ไม่ได้ และเตรียมรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 20,000 คนยื่นประธานสภาฯเพื่อพิจารณายื่นศาลฎีกาตั้งไต่สวนกรรมการป.ป.ช.ต่อไป พร้อมขู่ด้วยว่า ในอนาคตต้องเจอกันแน่วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.แถลงมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ยื่นหลักฐานใหม่ ต่อป.ป.ช.เพื่อให้รื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุมนปช.ปี2553 ที่ป.ป.ช.เคยยกคำร้องข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.ไม่มีความผิดในการสั่งสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. โดยที่ประชุมมีมติยืนยันไม่รื้อฟื้นคดีสลาย กลุ่ม นปช.ขึ้นมาพิจารณาใหม่ โดยเห็นว่า มติเดิมที่ป.ป.ช.วินิจฉัยไปมีความถูกต้องแล้ว เพราะการชุมนุมดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลในขณะนั้น มีขั้นตอนการปฏิบัติตามหลักสากล
ขอบคุณข้อมูล : ไทยรัฐ, มติชน