หน้าแรก news “การเลือกตั้ง” คำตอบอยู่กับสายลม

“การเลือกตั้ง” คำตอบอยู่กับสายลม

0
“การเลือกตั้ง” คำตอบอยู่กับสายลม
Sharing

การประชุมพรรคการเมืองเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ถือว่าเป็นการประชุมครั้งแรกที่ยังไม่มีอะไรชัดเจน ว่าจะเอาอย่างไรกันแน่ สุดท้ายการประชุมเมื่อวาน บรรดาพรรคการเมืองที่ไปนั่งประชุม ก็เป็นเพียงการไปนั่งฟังในสิ่งที่ คสช.บอกเท่านั้น ห้ามถามห้ามให้ความคิดเห็นเพราะเป็นเพียงการประชุมครั้งแรก เรียกว่าไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างแล้วแต่ผู้มีอำนาจจะให้เป็นไป

บรรยากาศภายในห้องประชุมของสโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีฯจึงเป็นบรรยากาศที่กลืนไม่เข้าคลายไม่ออก

มือกฏหมายระดับอาจารย์อย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เจ้าแห่งตัวเลขและเจ้าแห่งการตีความ บรรยายสรุปขั้นตอนทางกฎหมาย เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องโรดแมประยะเวลา

ที่มีขั้นตอนในการทูลเกล้ากฎหมายร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.โดยนายวิษณุระบุว่าอาจต้องใช้สูตร 3-3-5 หรือ 11 เดือนนับจากนี้ พร้อมยืนยันว่าไม่ยกเลิกระบบไพรมารีโหวต เนื่องจากบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้ว แต่อาจจะมีการยืดหยุ่น ให้ทำไพรมารีโหวตในระดับภาค

โดยนายวิษณุใช้เวลาบรรยายกว่าครึ่งชั่วโมง จากนั้น เปิดโอกาสให้ตัวแทนพรรคการเมืองถามคำถามที่สงสัย เพราะหากคำนวนการเลือกตั้งตามสูตรที่นายวิษณุประกาศมาการเลือกตั้งจะไม่ทันในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพราะถ้านับตามสูตรที่นายวิษณุระบุ 11 เดือน ก็จะอยู่ในเดือนพฤษภาคม 2562 อีกทั้งถามถึงความชัดเจนเรื่องไพรมารีโหวต

ไม่ผิดจากที่มีการคาดการณ์กันของบรรดาพรรคการเมือง เพราะนายวิษณุมาประกาศตัวเลขยาวเหยียดประหนึ่งให้บรรดาพรรคการเมืองเอาไปตีความกันเอง เฉกเช่นเดียวกับการร่างรัฐธรรมนุญที่ออกมาพูดตัวเลขสวยหรู ว่า 6-4/6-4 หากยังจำกันไดก็คือการร่างกกหมายแม่กับกฎหมายลูกจะใช้เวลาประมาณ 20 เดือน จนบัดนี้เวลาล่วงเลยมานานปี การร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นการออกมาประกาศตัวเลขครั้งใหม่ก็ไม่ต่างจากสำนักทรงเจ้าเข้าผีที่ออกมาบอกสูตรคำนวนตัวเลขสูตรนั้นสูตรนี้ แต่ไม่เป็นจริงสักอย่าง เพราะสุดท้ายนายวิษณุก็จะหาทางออกใหม่มานำเสนออยู่ดี

ดังเช่นการประชุมเมื่อวานเปิดหัวออกมาเลยว่า ที่ผ่านมามีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ไปแล้ว และได้นำผลการหารือดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรีไปแล้วก่อนที่จะนำมาเสนอที่ประชุมวันนี้ให้ได้รับทราบเพื่อรับรู้แนวทางว่ามีโรดแมปการจัดการเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่จะจัดได้ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ที่จะกำหนดออกมาเป็นตัวประกันว่าหากใครป่วนหรือมีเหตุอะไร บอกให้รู้ไว้เลยว่าคสช.ไม่จัดให้มีเลือกตั้งแน่นอน ข้อ คือ 1.ความสงบเรียบร้อยในช่วงที่มีการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2.การที่จะได้รับพระราชทานกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ทั้งสองฉบับกลับลงมาเมื่อใด 3. การผลัดเปลี่ยนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จากชุดเก่าเป็นชุดใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีกกต.ชุดใหม่หรือไม่ กกต.ชุดเก่าก็ยังทำหน้าที่ได้จนถึงที่สุด เพียงแต่จะกระทบเรื่องช้าหรือเร็วเท่านั้น 4.การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจะจัดขึ้นเมื่อใดเพื่อจะได้หลบหลีกไม่ให้ซ้ำอยู่ในเดือนเดียวกัน และ 5.ความสงบเรียบร้อยทั่วไปของประเทศ เพราะอย่างน้อยถ้าบ้านเมืองสงบเรียบร้อยเหมือนปัจจุบันนี้อยู่ ถือว่าอยู่ในระดับที่วางใจได้ แต่หากจะเกิดเหตุใดขึ้นในอนาคต แน่นอนจะกระทบต่อกำหนดเวลาการเลือกตั้ง

และแล้วเจ้าแห่งตัวเลขก็เริ่มแสดงความจริงให้เห็นเลยว่า  สำหรับปัญหาที่ผู้แทนพรรคการเมืองมีความกังวลและสอบถาม หรือเรียกร้องมาตลอดนั้น ประมวลออกมาได้ 4 ประเด็น คือ 1.เรื่องการประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง ที่มีความสำคัญ เพราะถ้าไม่มีการจัดประชุมใหญ่จะไม่สามารถรับสมัครสมาชิกได้ ไม่สามารถจัดทำไพรมารีโหวตได้ จะกระทบต่อการรับสมัครและสรรหาผู้สมัครได้ ดังนั้นหนทางแก้ที่เสนอต่อที่ประชุมในวันนี้คือ

หากจำเป็นที่พรรคใดต้องเรียกประชุมให้ขออนุญาตจาก คสช.ได้ แต่ทางแก้ดังกล่าวอาจจะยังไม่เป็นที่พอใจนัก จึงเตรียมหนทางแก้ที่จะเสนอต่อที่ประชุม คสช.ให้พิจารณาก่อน นื่องจากมีระยะเวลาอยู่ 3 ช่วง ช่วงแรก คือ ระยะเวลา 90 วันในการทูลเกล้าฯ พ.ร.ป.และรอรับพระราชทานเพื่อประกาศ, ช่วงที่สอง คือ เมื่อประกาศใช้กฎหมายโดยลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะต้องทิ้งระยะเวลาไว้อีก 90 วันเพื่อยังไม่ให้มีผลบังคับ, และช่วงที่สาม ระยะเวลา 150 วัน สำหรับจัดให้มีการเลือกตั้ง ในวันใดก็ได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว

สำหรับ 90 วันของช่วงที่สองที่ระบุไว้ข้างต้นนั้น เดิมมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีไว้ทำไม ก็ทำให้เห็นแล้วว่าถ้าไม่มีห้วง 90 วันนี้จะเกิดความวุ่นวาย เพราะตามกฎหมายจะต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งโดย กกต. ต้องใช้เวลา 60 วัน และต้องทำไพรมารีโหวตอีก 30 วัน จากนั้นจะล้ำเข้าไปในห้วงที่สาม คือ 150 วัน โดยใช้ 20 วัน ในการรับสมัคร ส.ส. ดังนั้นจะเหลือเวลาอีกเพียง 40 วัน ก็จะครบ 150 วัน ซึ่งคงลำบากในการหาเสียง อย่างไรก็ตามจึงมีความเห็นว่าจะเสนอข้อหารือไปยัง คสช.ว่าในช่วงเวลาที่สองคือ 90 วันนั้น ให้ กกต.สามารถแบ่งเขตการเลือกตั้งได้ภายใน 60 วัน แล้วตามมาด้วยทำไพรมารีโหวตอีก 60 วัน จากนั้นค่อยเข้าสู่ช่วงที่สาม คือ 150 วัน แล้วค่อยใช้เวลา 20 วัน ในการรับสมัคร จากนั้นจะเหลือเวลาอีก 130 วันซึ่งก็จะทำให้จัดการเลือกตั้งเร็วหรือช้าเมื่อใดก็ได้

สวนทางกับคำกล่าวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ในช่วงที่เยือนสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศสว่าการจัดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่ง กกต.ก็ระบุว่าหากจะจัดการเลือกตั้งก็ขอเป็นวันอาทิตย์ในช่วงสิ้นเดือนของทุกเดือน เพื่อให้อยู่ในกรอบ 150 วัน จึงมีการตั้งเป็นตุ๊กตาขึ้นมาว่าเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์, 31 มีนาคม, 28 เมษายน และ 5 พฤษภาคม ซึ่งตนขอย้ำว่า เป็นการตั้งตุ๊กตาขึ้นมาคร่าวๆ เท่านั้น ขอสื่ออย่าพาดหัวว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เนื่องจากผู้กำหนดการเลือกตั้งตามมาตรา 11-12 คือ กกต.ใหม่ ไม่ใช่รัฐบาลและ คสช.

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวภายหลังการพบหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป ว่า มีหลายพรรคการเมืองได้หารือเกี่ยวกับคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 รวมถึงเสนอแนะแนวทางแก้ไข ซึ่งส่วนใหญ่เสนอให้ปลดล็อกและงดทำ ไพรมารีโหวต แต่ก็มีบางพรรคก็ให้คงไว้ ส่วนความชัดเจนในการกำหนดวันเลือกตั้ง ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้ เนื่องจากต้องรอให้กฎหมาย ประกาศราชกิจจานุเบกษาก่อน ซึ่ง ส.ว. จากนั้นรอไปอีก 90 วัน จึงมีผลบังคับใช้ และต้องรอกระบวนการอีก 150 วัน จึงจะจัดให้มีการเลือกตั้งได้

สุดท้ายการหารือเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็เป็นเพียงการที่รัฐบาลบอกให้ทุกพรรคการเมืองฟังในสิ่งที่ตนอยากพูดเท่านั้น ไม่ได้บอกให้ทราบว่าจะเอาอย่างไรเรื่องการเมือง และพรรคการเมือง บทสรุปสุดท้ายที่ออกมาคือยังไม่มีข้อสรุป เพราะปัจจัยการเดลือกตั้งที่คสช.ตั้งธงมายังมีอะไรให้เห็นอีกมาก สุดท้ายหากมีอะไรที่ไม่สามารถควบคุมได้เกิดขึ้น การเลือกตั้งที่บอกว่าจะเกิดขึ้นในระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ค.62 ก็อาจจะเลื่อนออกไป

เพราะในที่สุดความแน่นอนคือความไม่แน่นอนอยู่ดี คนที่จะตอบคำถามได้คือหัวหน้าคสช.ที่สุดแล้วการไปประกาศเลือกตั้งของหัวหน้าคสช.ว่าจะจัดเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ก็อาจจะไม่เป็นไปตามที่บอกกับผู้นำประเทศก็ได้ เพราะจะแค่อะไรกับการเลือกตั้งลองไปย้อนดู หัวหน้าคสช.ประกาศเลือกตั้งกับชาวโลกมากี่ครั้ง สุดท้ายได้เลือกตั้งหรือไม่ นี่คือความจริงที่สุดที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ

ดังนั้นการเลือกตั้งในประเทศไทย จึงเป็นที่จับตามองของชาวโลกว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ยังไร้คำตอบอยู่ดี

Ringsideการเมือง


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่