86 ปี ปีที่ผ่านมา ชัดเจนว่าการเมืองไทย ไม่สามารถก้าวสู่ประชาธิปไตยได้ เป็นแต่เพียงการเดินเป็นวงกลม วนอยู่ที่เดิม
หากไปถามนักวิชาการสายโครงสร้างนิยมแล้ว ปัญหาของประชาธิปไตยหนีไม้พ้นความเห็นแก่ตัวของชนชั้นนำ ที่ต้องการเก็บกักทรัพยากรไว้กับตัว จนมิปล่อยให้อำนาจกระจายแก่ฝ่ายใด
หากถามฝ่ายต้านทักษิณ คำตอบย่อมไม่หลุดไปจาก การลุอำนาจของฝ่ายชนะเลือกตั้ง จนผันตัวเองกลายเป็นเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งใช้อำนาจตามอำเภอใจ มิฟังเสียงประชาชน
หากถามจากฝ่ายต้านพรรคประชาธิปัตย์ ต้องได้รับคำตอบว่า พวกแพ้แล้วพาลคืออุปสรรคของประชาธิปไตย เพราะยอมทุกอย่างเพื่อให้ตนเองชนะ แม้กระทั่งเรียกทหารมายึดอำนาจฝ่ายที่ตนชิงชัง
หากถามฝ่ายทหาร จะได้รับคำตอบว่า เพราะองคาพยพในประเทศไทยนี้ ยังมิอาจใช้อำนาจที่ได้รับเพื่อการพัฒนาพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ หากปล่อยไว้รั้งแต่ก่อความหายนะให้เกิดกับชาติ
จะเห็นว่าอุปสรรคของประชาธิปไตยช่างมากมายเสียเหลือเกิน ทว่านี่เอง คือธรรมชาติของประชาธิปไตยที่ต้องมีพัฒนาการ
สหรัฐอเมริกา สร้างประชาธิปไตยเมื่อช่วงปี ค.ศ.1775 ก่อนฝรั่งเศสประมาณ 10 ปี หรือนับตั้งแต่การปลดแอกตนเองจากการเป็นหนึ่งในอาณานิคมของอังกฤษ หลังจากนั้นผู้นำสหรัฐได้เขียนรัฐธรรมนูญ และพัฒนารัฐธรรมนูญเรื่อยมา ผ่านชนชั้นนำ ก่อนจะมาเป็นสภาเลือกตั้งเมื่อช่วงประมาณ 125 ปี ที่ผ่านมา
จะเห็นว่าสหรัฐใช้เวลาร่วม 200 ปี เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย ดังนั้นประชาธิปไตย ไม่ใช่ของที่ได้มาง่าย แต่ต้องอาศัยการเรียนรู้
ประเทศไทยแม้จะผ่านบทเรียนการเมืองมามาก แต่มักจะทำผิดซ้ำซาก
รู้ทั้งรู้ว่ากองทัพ มีบทบาทสำคัญในการประคับประคองชาติด้วยหลากหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการยึดอำนาจ
ที่ผ่านมาประเทศไทย มีการยึดอำนาจมาแล้ว 13 ครั้ง
ในรอบ 13 ปี หลังสุด ยึดอำนาจไปแล้ว 2 ครั้ง
The Center for Systemic Peace ระบุว่า ใน 11 ปี ไทยเป็นประเทศที่มีการยึดอำนาจมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก
จะเห็นว่าการยึดอำนาจ ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในวิถีของการเมือง ที่แม้จะไม่อยากยอมรับ แต่มันก็คือความจริง
สำหรับฝ่ายประชาธิปไตย หากตระหนักถึงบทบาทของกองทัพ และชิงชังการยึดอำนาจ ย่อมต้องหาทางปิดช่องการเข้ามาของกองทัพ
ต้องทำให้กองทัพรู้ว่าประเทศไทยยังเตินต่อไปได้ !!!
การมุ่งเอาชนะกันในสภา เป็นวิธีที่กระทำได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพราะในสภา เป็นเรื่องของผู้แทนปวงชน
สภาเดินได้ ประเทศย่อมไปต่อได้
ทว่า ตลอดช่วงหลายปีหลัง กลับมีความพยายามสร้างเงื่อนไข ให้สภาไม่สามารถทำงานได้ หรือพาไปสู่เงื่อนไข ให้ทหารสามารถแสดงบทบาทตามที่ต้องการ อาทิ การใช้มวลชนกดดันระหว่างกัน เลยเถิดไปจนเกิดความรุนแรง บ้านเมืองหยุดชะงัก ขณะที่ในสภา นักการเมืองบางคนใช้สภา เป็นสถานที่ต่อรองผลประโยชน์ ไม่เคารพระเบียบ ไม่ฟังเสียงประชาชน แสดงกริยาหยาบกร้านเพียงหวังสิ่งที่ต้องการ ลบหลู่เกียรติของตน ในฐานะผู้แทนปวงชน
กระทำจนสภาไม่สามารถทำงานต่อได้ ไม่วายเปิดประตูให้อำนาจอื่นแทรกแซง
ดังนั้น เมื่อโอกาสเดินเข้าสภาวนมาถึง หากยังยึดมั่นใจประชาธิปไตย ผู้แทนปวงชนจำเป็นต้องรักษา “สภา” อันเป็นที่มั่นด้วยชีวิต นักการเมืองต้องรู้แพ้ รู้ชนะ รู้จักรอ การเมืองในสภาต้องไม่มีทางตัน
นี่เองคือหนทางการรักษาประชาธิปไตย ในประเทศไทย
Ringsideการเมือง