หากย้อนอ่านประวัติศาสตร์การเมืองไทย ต้องบอกว่า พรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้มาเล่นๆ แต่งานนี้เอาจริง ใช้โมเดลพรรคสามัคคีธรรมเป็นต้นแบบ
ย้อนอดีต พรรคสามัคคีธรรม ก่อตั้ง เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2535 หลังยึดอำนาจ 1 ปี เป้าหมายเพื่อเข็น รสช. ไปต่อในสนามเลือกตั้ง
มีนายณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตหัวหน้าพรรครวมไทย และพรรคเอกภาพ เป็นหัวหน้าพรรค และ นาวาอากาศตรีฐิติ นาครทรรพ บิดาของ นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ เป็นเลขาธิการพรรค
ทั้งนี้ นาวาอากาศตรีฐิติ นาครทรรพ ใช้คอนเน็กชั่น ดึงตัวอดีตนักการเมืองเข้าร่วมกับพรรคสามัคคีธรรมเป็นจำนวนมาก อาทิ
นายสะอาด ปิยวรรณ, นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์, นายพินิจ จันทรสุรินทร์, นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์, นายประชุม รัตนเพียร, นายสุบิน ปิ่นขยัน, นายอาทิตย์ อุไรรัตน์, นายประสพ บุษราคัม, นายชัชวาล ชมพูแดง, นายวีรวร สิทธิธรรม และนายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ ส่วนตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค ได้แก่ นายนิคม แสนเจริญ, นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์, นายสันติ ชัยวิรัตนะ, นายใหม่ ศิรินวกุล, นายรักเกียรติ สุขธนะ และนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง
การไหลเข้าพรรคสามัคคีธรรมยังมีต่อเนื่อง กระทั่ง พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก หัวหน้าพรรคปวงชนชาวไทย ได้ลาออกจากตำแหน่ง และเข้ารับตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคสามัคคีธรรม ในวันที่ 21 ม.ค. 2535 รวมไปถึง นายประมวล สภาวสุ และนายอนุวัฒน์ วัฒนพงศ์ศิริ รองหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งได้ตัดสินใจย้ายจากพรรคชาติไทยไปอยู่พรรคสามัคคีธรรม
การเลือกตั้ง 22 มี.ค. 2535 พรรคสามัคคีธรรมชนะเลือกตั้ง ได้ 79 ที่นั่ง ซึ่งเอาชนะพรรคชาติไทย ที่ได้ 74 ที่นั่ง พรรคสามัคคีธรรมก็ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคการเมืองอีก 4 พรรค รวมเสียงสนับสนุนทั้งสิ้น 195 เสียง ในขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านมีเสียงสนับสนุนทั้งสิ้น 165 เสียง
แม้สุดท้ายพรรคสามัคคีธรรมจะจบไม่สวย นำมาซึ่งเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
แต่บทบาทการเป็นเรือ พานายทหารทั้งหลาย มาวินในสนามเลือกตั้งได้นั้น ต้องนับว่าน่าปรบมือให้ เพราะใช้เวลาเพียง 3 เดือน นับจากวันตั้งพรรค จนถึงเลือกตั้ง สามารถกวาด ส.ส. จนเป็นเบอร์ 1 ในสภา ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน
นี่เองคือโมเดลของพรรครวมพลังประชารัฐ ที่วันนี้กวาดนักการเมืองเข้าค่ายไปแล้วกว่า 84 รายชื่อ แต่ละคนมีมวลชนติดมือไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคะแนน ซี่งจะผลิดอกออกผลเมื่อวันเลือกตั้งมาถึง เพราะอย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ “ทุกคะแนน” มีความหมาย
รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง วิเคราะห์จากรายชื่ออดีต ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐ ทำนายว่าพรรคน้องใหม่นี้ เบื้องต้นจะได้ ส.ส.50 คน และถ้าหากพลังดูดยังเดินเครื่องต่อไม่หยุด ได้อดีต ส.ส.เกรดสูงมาไว้ในกำมือยิ่งมาก ก็ยากจะทำนายว่า อนาคตของพรรคพลังประชารัฐจะโชติช่วงขนาดไหน
พรรคที่สะเทือนที่สุดคือพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นเป้าหมายดูดโดยตรง ถึงวันนี้ “ตัวท็อป” ก็หลุดพรรคไปหลายคน อาทิ นายฉลอง เรี่ยวแรง อดีต ส.ส.นนทบุรี, กลุ่มเร่งสมบูรณ์สุข จ.เลย, กลุ่มรัตนเศรษฐ จ.โคราช และอาจจะรวมถึง “กลุ่มสะสมทรัพย์” ด้วย ยังไม่รวมแถว 2-3 อีกนับสิบชีวิต ที่มีรายชื่อปรากฏ นี่แค่ยกแรก ก็สะเทือนพรรคเพื่อไทยขนาดนี้ กว่าจะถึงวันเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าจะเหลือแนวรบอีกกี่ชีวิต
จึงไม่แปลกใจ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ต้องออกมา “เทคแอ็กชั่น” ปลุกขวัญกำลังใจให้แนวร่วม พร้อมกับขายของ “อยู่พรรคเพื่อไทย อย่างไรประชาชนก็หนุน” ขณะที่ลูกพรรคแก้เกมดูด ส่งกระบอกเสียงประจำพรรคอย่าง นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ยื่น กกต. ฟ้องว่ากลุ่มสามมิตรทำผิดกฎหมาย ใช้สิ่งของล่อใจ ให้มาเป็นสมาชิกพรรค
จับอาการแล้วพรรคเพื่อไทย “หวาดหวั่น” อยู่ไม่น้อย กับการเดินเครื่องของ “กลุ่มสามมิตร”
สำหรับพรรคภูมิใจไทย ถึงวันนี้โดนหางเลขเช่นกัน เพราะกลุ่มสามมิตร และพรรคพลังประชารัฐ คือ พรรคการเมือง ในสนามเลือกตั้ง ที่พร้อมสู้ศึกหวังชัยนะอย่างเต็มที่ จากที่สื่อมองกันว่าพรรคพลังประชารัฐ เป็นพันธมิตรกับพรรคภูมิใจไทย มาถึงวินาทีนี้ ต้องบอกว่า “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” หักปากสื่อทุกสำนัก
เพราะมีรายชื่อของอดีต ส.ส.ภูมิใจไทยจำนวนมาก ไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ
อย่างไรก็ตามสำหรับพรรคภูมิใจไทยแล้ว แม้จะโดนกระทำ แต่ยังถือคติไม่สร้างเงื่อนไขทางการเมือง ล่าสุดนายอนุทิน ชาญวีรกูล ระบุว่า
“ถ้าอยู่กันไม่ได้ก็แยกย้ายกันไป แต่อย่าโกรธกัน ในทางการเมืองการย้ายพรรคไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็ยังไม่เห็นใครที่ย้ายพรรคบ่อยๆ แล้วจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน พอมีอยู่บ้างที่ลมเพลมพัด ฟลุคแล้วไปติดยอด แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ส.ส.ที่เขามีความมั่นใจในศักยภาพและความนิยมของตัวเอง ไม่มีใครเปลี่ยนพรรคหรอก”
พร้อมกับย้ำว่า
“ในการเลือกตั้งครั้งหน้าทุกคนจะเริ่มต้นจากจุดเดียวกัน แม้บางพรรคจะมีภาพออกมาดูเหมือนเป็นพรรคที่สนับสนุนคณะผู้บริหารประเทศในปัจจุบัน แต่เราต้องไม่กลัว เพราะนี่คือการเมือง ในประวัติศาสตร์ก็เห็นแล้วว่าคนเป็นรัฐบาลไม่ได้แปลว่าจะบันดาลทุกสิ่งได้ พรรคภูมิใจไทยเคยดูแลกระทรวงมหาดไทย เคยตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ตั้งอธิบดีทุกกรม แต่ไม่เห็นจะช่วยเรื่องการเลือกตั้งได้”
จึงชัดเจนว่าท่าทีของพรรคภูมิใจไทยนั้น ไม่ได้ยี่หระกับ “พลังดูด” ที่กำลังดำเนินอยู่ พร้อมกับไม่สนใจว่าพรรคพลังประชารัฐ จะมาไม้ไหน ขอปิดหู ปิดตา ปิดปาก ลุยการเมืองในสนามเลือกตั้ง
มาที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่โดนดูดซึ่งหน้าไปหลายคน วันนี้ มีท่าทีอ่อนลงตามลำดับ จากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไล่ส่งกลุ่มหนุน “บิ๊กตู่” ให้พ้นพรรค มาปัจจุบัน รองหัวหน้าพรรคอย่างนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ กลับมีท่าที ที่ต่างออกไป จับอาการให้สัมภาษณ์ล่าสุด ระบุว่า
“บุคคลใดสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ถือเป็นสิทธิ์ แต่ว่าการดำเนินการควรทำด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามบทบัญญัติทางกฎหมาย หากไม่สอดคล้อง กับกฎหมายและระบอบประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นการสร้างปัญหา
ดังนั้นผู้มีอำนาจและบุคคลที่เคลื่อนไหวในขณะนี้ต้องระมัดระวัง ไม่ให้สังคมตั้งคำถามว่าความพยายามดังกล่าวเป็นการสร้างความได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ และในขณะนี้จำเป็นต้องเดินหน้าเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย สร้างบรรยากาศของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพื่อเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง”
แม้จะไว้เชิง ในเรื่องของหลักการ แต่ไม่มีการไล่ใคร ให้พ้นพรรคอีกแล้ว
สะท้อนการไว้ไมตรี กับขั้วกองทัพ ไม่ได้เล็งแตกหัก ให้ตายกันไปข้าง
ทว่า ท้ายที่สุดแล้ว พลังดูด และพรรคพลังประชารัฐ ที่่วันนี้ กำลังสะเทือนการเมืองไทย จะไปได้ไกลแค่ไหน ประชาชน จะเป็นฝ่าย ให้คำตอบ
Ringsideการเมือง