ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ นักจิตวิทยาการปรึกษา เจ้าของเพจ “นักจิตวิทยาการปรึกษาคนหนึ่ง” กล่าวถึงกรณีที่สังคมกำลังให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ที่นักฟุตบอลเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีเข้าไปติดในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย โดยระบุว่า แม้ว่าสถานการณ์การช่วยเหลือน้องๆจะมีความวุ่นวายอยู่บ้างตามกระบวนการของมัน แต่สิ่งที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคมน่าจะมีสาเหตุมาจากการที่คนแต่ละคน “มีความคิดเห็น” และ “มีความคาดหวัง” ต่อเหตุการณ์นี้แตกต่างกัน จนนำไปสู่การถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันทางความคิดในทุกหย่อมหญ้า
แม้ว่าจะคิดเห็นแตกต่างกัน แต่สิ่งที่สังคมควรระวังคือท่าทีการแสดงความคิดเห็นในเชิงตำหนิซ้ำเติม ประสบการณ์ที่น้องๆประสบในถ้ำก็ถือว่ามีความสาหัสพอสมควร ดังนั้นสังคมจึงควรเห็นใจ ให้การต้อนรับ และร่วมแสดงความยินดีกับการกลับมาของน้องๆ ส่วนการพูดถึงบทเรียนของเรื่องนี้นั้นสามารถพูดได้เพียงแต่ควรเลือกพูดในเวลาที่เหมาะสม สิ่งที่ต้องระวังอีกประการคือ “ความคาดหวังต่อน้องๆที่ได้รับความช่วยเหลือ” ซึ่งจะเห็นได้จากกลุ่มความคิดเห็นที่หวังให้เด็กออกมาทำประโยชน์แก่สังคมเพื่อทดแทนต้นทุนของการช่วยเหลือ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง สังคมไม่ควรคาดหวังจนเกินไป การทำความดีเป็นสิ่งที่คนทุกคนพึงกระทำ แต่ก็มิใช่ว่าการช่วยเหลือนี้จะทำให้น้องๆต้องแบกรับการทำความดีมากกว่าคนอื่น ขณะเดียวกันเรื่องของการเยียวยาก็ควรดูความเหมาะสม โดยอยู่บนพื้นฐานที่ว่าการให้นั้นจะต้องเป็นประโยชน์ต่อเด็กตามสมควร มิใช่การให้ที่ผู้ให้ต้องการตอบสนองความต้องการของตัวเองจนไม่ได้พิจารณาความเหมาะสม
ส่วนเรื่องของปัญหาการรับข้อมูลข่าวสาร “13 ชีวิตติดถ้ำ” ในช่วงที่ผ่านมา จนทำเอาหลายคนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ หรือเครียดจนเกิดอาการป่วยเพราะ “อิน” ไปกับเหตุการณ์นั้น นักจิตวิทยาการปรึกษาท่านนี้อธิบายปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า มันเหมือนเวลาที่เราดูละครเรื่องหนึ่งและเราเกิดความผูกพันกับเนื้อเรื่องกับตัวละคร จนเกิดความอิน รู้สึกมีส่วนร่วม เพียงแต่เหตุการณ์เด็กติดถ้ำนี้เป็นละครที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง การพร้อมใจกันนำเสนอของสื่อมวลชนอาจทำให้เราเผลอใจไปผูกพันกับเรื่องราวได้ไม่ยาก จนเกิดปรากฏการณ์แฮชแท็ก #คนแปลกหน้าที่อยากเจอ คอยติดตามลุ้นเอาใจช่วยจนทำให้ใจเกิดความพะว้าพะวงราวกับเป็นเรื่องของตัวเองจริงๆ เพราะฉะนั้นประชาชนควรระมัดระวังใจไม่เข้าไปอินกับเหตุการณ์จนเกินพอดี ให้วางตัวแบบผู้เฝ้าดูและรับรู้ความเป็นไป หากเริ่มรู้ตัวว่าเครียดก็ควรเว้นระยะออกมา เอาใจช่วยห่างๆ แล้วกลับมาดำเนินชีวิตของเราตามปกติ ที่สำคัญคือควรระมัดระวังการอ่านความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายในโลกโซเชี่ยล ซึ่งเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราเกิดความเครียดและความไม่พอใจได้
ดร.สุววุฒิ ยังกล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชน ที่คาดว่าหลังจากนี้สื่อสำนักต่างๆ จะแย่งชิงตัวทีมหมูป่าและผู้ปกครองมาสัมภาษณ์หรือออกรายการว่า สื่อควรพิจารณาตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมต่อน้องๆและครอบครัว และต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ควรให้ความสำคัญตอนนี้คือการเยียวยาพวกเขาให้กลับมามีความมั่นคงทางจิตใจก่อนเป็นอันดับแรก การพยายามติดตามหรือนำเสนอข้อมูลจนละเมิดความเป็นส่วนตัวคงเป็นสิ่งที่สื่อต้องพิจารณาให้หนัก อย่างไรก็ตาม การนำเสนอองค์ความรู้และวิธีการการเอาชีวิตรอดในภาวะวิกฤติก็ยังเป็นประเด็นที่สื่อควรให้ความสนใจเพื่อให้องค์ความรู้เหล่านี้เผยแพร่สู่สาธารณชน
นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นสำคัญที่อาจสร้างความขัดแย้งทางความคิดของผู้คนในสังคมขณะนี้คือ เรื่องทางวิทยาศาสตร์ และความเชื่อส่วนบุคคล เช่น การทำพิธีกรรมหน้าถ้ำ การเดินทางมาของ “ครูบาบุญชุ่ม” ซึ่ง ดร.สุววุฒิ ระบุว่า เราไม่มีทางรู้ได้อย่างครบถ้วนว่าในโลกนี้อะไรมีจริงหรือไม่มีจริงบ้าง แต่อย่างไรก็ตามในสถานการณ์นี้เราจะเห็นว่าการช่วยเหลือน้องๆสำเร็จลงได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งที่มาจากฝ่ายวิทยาศาสตร์ และฝ่ายความเชื่อทางศาสนา แม้เราอาจจะศรัทธาในเรื่องเหนือธรรมชาติ แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทั้งหลายเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ภารกิจการช่วยเหลือนี้สำเร็จลุล่วงลงได้
“แม้จะมีความเชื่อแตกต่างกัน หากพิธีกรรมนั้นสร้างให้เกิดขวัญกำลังใจ เกิดความสงบในใจ เราก็สามารถระลึกขอบคุณกับสิ่งที่ท่านทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม หรือลบหลู่ดูหมิ่นกัน” ดร.สุววุฒิกล่าว