หน้าแรก news ไม่ต้องตกใจ นักวิชาการ ชี้ “พลังดูด” มีมาตั้งแต่ยุค “ถนอม”

ไม่ต้องตกใจ นักวิชาการ ชี้ “พลังดูด” มีมาตั้งแต่ยุค “ถนอม”

0
ไม่ต้องตกใจ นักวิชาการ ชี้ “พลังดูด” มีมาตั้งแต่ยุค “ถนอม”
Sharing

รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยถึงภาพรวมการเมือง เรื่องการย้ายพรรคของอดีต ส.ส. ว่า ในอดีตที่ผ่านมาเคยเกิดปรากฏการณ์เรื่องการดึงตัวนักการเมือง มีมานานแล้วตั้งแต่หลังปี 2500 เป็นยุคหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี คนที่ 11 ถึงแก่อสัญกรรม ซึ่งในช่วงนั้นมีการตีรวนกันทางการเมืองหนักกว่านี้ ในยุคนั้นมีจอมพล ประภาส จารุเสถียร ได้มีบทบาทอย่างมากในการเมือง โดยมีจอมพลถนอม กิตติขจร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร เป็นมือทำงาน  พร้อมตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาคือ   พรรคสหประชาไทย ที่มีจอมพลถนอม เป็นหัวหน้าพรรค และพลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค ครั้งนั้นมีการดึงนักการเมืองจากหลายพรรคมาร่วมกันในนามพรรคสหประชาไทย

ซึ่งในครั้งนั้นมีการดำเนินการดึงกันแบบโจ๋งครึ่มมากกว่านี้ มีการตอบแทนแบบผลประโยชน์ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวประชาชนไม่สนใจการเมืองมากเท่าที่ควร ทำให้การดำเนินการไม่มีปัญหาในการดึงตัว ส.ส. หลังจากนั้นมีการเรียกร้องจาก ส.ส.เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้จอมพลถนอมเริ่มรำคาญ เริ่มเบื่อหน่ายการเรียกร้องของ ส.ส.จึงทำการรัฐประหารตัวเองขึ้นมา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ก็เป็นยุคสิ้นสุดของจอมพลถนอม

รศ.อัษฎางค์  กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นไม่นานก็มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้ง โดยการปฏิวัติภายใต้การนำของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 จากนั้นในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520 จึงได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 เป็นการชั่วคราว และได้จัดตั้งสภานโยบายแห่งชาติขึ้น จากนั้นได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของประเทศ

ช่วงที่พลเอกเกรียงศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ประเภท “ข้ามาคนเดียว” ก็ทำให้การดำเนินการในสภาเป็นเรื่องยาก จำต้องมีเสียงสนับสนุนจนกระทั่งมีการรวบรวม ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นมาเป็นกำลังสนับสนุนให้กับพลเอกเกรียงศักดิ์เป็นจำนวนมาก โดยการรวบรวมเป็นการซื้อตัว ส.ส.ที่มีชื่อเสียงหลายคน  ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการย้ายพรรคเป็นเรื่องธรรมชาติทางการเมืองที่มีมาแต่อดีต จนกระทั่งมาถึงปี 2535 ที่มีการจัดตั้งพรรคการเมืองคือพรรคสามัคคีธรรม

ภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2535 มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาชื่อพรรคสามัคคีธรรม มีการดึงอดีตส.ส.เข้ามาอยู่ในพรรคสามัคคีธรรมเป็นจำนวนมาก มีข่าวว่ามีการใช้เงินเยอะมาก และได้จำนวนส.ส.เป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐาลได้ เพราะไม่นานก็มีการรัฐประหาร โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ส่งผลพรรคสามัคคีธรรมต้องเลิกราไป

รศ.อัษฎางค์  กล่าวด้วยว่า การซื้อตัวส.ส.ในปัจจุบันข่าวก็มีออกมาแต่เชื่อว่าทำได้ยากขึ้น มีความซับซ้อนมากขึ้น มีอำนาจอื่นเข้ามาช่วยในการดึงตัวส.ส. ต่างจากสมัยที่มีการตั้งพรรคไทยรักไทย สมัยนายทักษิณ ชินวัตร ที่มีการโน้มน้าวส.ส.ให้เข้ามาอยู่ในพรรคไทยรักไทย  มีการตอบรับเป็นจำนวนมาก จนได้เป็นรัฐบาลในที่สุด ปัจจุบันการซื้อตัวส.ส.ไม่แน่ใจว่าจะทำได้มากนัก และพรรคที่กำลังดำเนินการจำต้องมีอำนาจอื่นนอกจากปัจจัยเรื่องเงินเข้ามาช่วย นอกจากนี้พรรคที่ทำการดูดจำเป็นต้องมีพรรคใหญ่อยู่ 1 พรรคในการสนับสนุนเพื่อเป็นรัฐบาล เพราะหากไม่มีพรรคการเมืองใหญ่มาสนับสนุนจะก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาลไม่ได้อย่างแน่นอน


Sharing

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่