ชัดเจนว่าไม่มีใครเห็นด้วยกับการปฏิวัติยึดอำนาจ เพราะรับรู้โดยทั่วกันว่าเป็นทางออกทางการเมืองซึ่งไร้ความเป็นอารยะ ทว่ากับประเทศไทย การยึดอำนาจ ถือเป็นทางออกหนึ่ง ซึ่งประชาชนยอมรับแบบเสียมิได้ หาไม่เช่นนั้นแล้ว ประเทศไทยคงไม่เคยผ่านการยึดอำนาจมาถึง 13 ครั้ง
รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)
รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีหลังยิ่งลักษณ์ ชินวัตรถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง)
ประชาธิปไตยแบบไทย คือโครงสร้างที่ดำรงอยู่จริง ในรัฐพันลึก ซึ่งเกาะเกี่ยวและขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า ณ ยามนี้ ประชาธิปไตยแบบไทย เป็นโครงสร้างที่มีความเข้มแข็ง และมีพลังในการหักโค่นทุกแรงเสียดทาน ซึ่งผลกระทบย่อมจะตกอยู่กับประชาชน หากการทำลายล้างนั้นมาถึง
ฝ่ายประชาธิปไตย ย่อมมิชอบกับโครงสร้าง แต่หากอ่านย้อนประวัติศาสตร์จะพบว่าความพยายามเปลี่ยนแปลง มักส่งผลร้ายที่สุดตามมา อาทิ การนำไปสู่การยึดอำนาจ เป็นต้น และหลังจากนั้น คือ สภาวะการณ์ซึ่งสิทธิเสรีภาพของคนไทย ถูกลดทอนลง พร้อมไปกับภาพลักษณ์ของชาติ อันจะมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมตามมา จนยากจะประเมินเป็นมูลค่าได้
ด้วยการเมืองไทย เติบโต และประชาธิปไตยกำลังเป็นกระแสเบ่งบาน สวนทางกับจารีตด้านการปกครองของไทย เป็นโจทย์ใหญ่ของผู้เขียนกติกาบ้านเมือง ในการนำ “ความเป็นประชาธิปไตย” มาปรับไว้ในโครงสร้างระบบแบบ “ไทยไทย”
เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ และคณะ เป็นสถาปนิกออกแบบ สาระสำคัญหนีไม่พ้นการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และ สมาชิกวุฒิสภาแบบแต่งตั้ง เพื่อเป็นกลไกควบคุมการทำงานของรัฐบาล
กระนั้น ก็สามารถถูกตรวจสอบได้ โดนประชาชน ผ่านการใช้สิทธิ์แสดงความเห็นตามรัฐธรรมนูญกำหนด อันจะนำไปซึ่งการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ ไปจนถึงการถอดถอน สว. เมื่อเสียงของประชาชนสร้างแรงกระเพื่อมมากพอ
แน่นอนว่าเป็นการให้อำนาจของฝ่ายที่มิได้ยึดโยงกับประชาชน แต่ในทางหนึ่งแล้ว เป็นการนำทุกอำนาจมาจัดวางไว้ในสภา ดีกว่าให้ออกมาเล่นการเมืองข้างถนน
การมีอยู่ของอำนาจจากประชาชน และอำนาจอื่นได ในสภาเดียวกัน ถูกเรียกว่าการเมืองระบบ “ลูกผสม” บางครั้งใช้คำว่า “ไฮบริด”
นางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต. ให้ความเห็นตรงไปตรงมากับเรื่องนี้ว่า
“อยากให้สังคมให้โอกาสระบบการเมืองไฮบริด ที่มีทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ, ส.ส.เลือกตั้ง, ส.ว.แต่งตั้ง ฯลฯ โดยเห็นว่าเป็นแนวทางใหม่ ที่น่าจะทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า และไม่มีการยึดอำนาจ “
เป็นความเห็นที่น่าจะไม่ถูกใจใครหลายคน แต่ก็เป็น “ความจริง” ในทางการเมืองไทย
เพราะถ้าคุณไม่ยอมรับระบบนี้ กระทั่งมีความพยายามจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางอย่าง ซึ่งขัดใจองคาพยพที่ดำรงอยู่ในโครงสร้าง ด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ความพยายามเปลี่ยนแปลงนี้ แม้จะมาด้วยเจตนาดี แต่มาถึงจุดหนึ่ง เราอาจจะเห็นการยึดอำนาจครั้งที่ 2 ภายในระยะเวลาไม่ครบทศวรรษ เพราะอย่าลืมว่าสังคมไทย สามารถกล้ำกลืนฝืนยอมรับให้การออกมาของกองทัพเป็นทางออกของชาติ
ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาน
Ringsideการเมือง