พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายว่า ที่ประชุมรับทราบผลการประชุมใหญ่คณะกรรมาธิการการประมงแห่งรัฐสภายุโรป ที่รัฐสภาสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 ตามที่ได้อนุมัติให้ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกา ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาแก้ไขปัญหา การทำประมงผิดกฎหมายกับสหภาพยุโรป พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อชี้แจงความก้าวหน้าการทำงานของประเทศไทย เนื่องจากคณะกรรมาธิการการประมงแห่งรัฐสภายุโรป ถือเป็นกลไกนโยบายระดับสูงที่มีความสำคัญมาก และเป็นที่น่ายินดีว่ารัฐสภาสหภาพยุโรปมีความเข้าใจใน ความพยายามอย่างหนักของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายทุกมิติ ทั้งด้าน การประมงและแรงงานภาคประมง ซึ่งท่าทีอย่างเป็นทางการและได้ถูกบันทึกไว้ในรายงานการประชุมและเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เปิดเผย ผ่าน Website www.europarl.europa.eu นับเป็นท่าทีทางบวกต่อการทำงานของไทยครั้งสำคัญที่สุดด้วย
พลเอกฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการพิจารณาและให้ความเห็นชอบ “โครงการนำเรือประมงออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน” หรือ ซื้อเรือคืน ตามแผนบริหารจัดการประมงทะเล ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบไว้ตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน 2558 สำหรับเรือประมงที่จะเข้าโครงการนี้จะต้องเป็นเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง แจ้งจุดจอด ตรึงพังงา และจัดทำ UVI (อัตลักษณ์เรือ) จากกรมเจ้าท่าเรียบร้อยแล้ว และไม่มีคดีใด ๆ โดยจัดซื้อในราคาตามสภาพจริง แต่จะไม่เกินร้อยละ 50 ของราคากลางที่ได้จัดทำไว้ตั้งแต่ปี 2558 เรียบร้อยแล้ว จำนวน 680 ลำ ในกรอบวงเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท แบ่งการจัดซื้อเป็น 3 ระยะ ระยะแรกจะเริ่มจากเรือประมงขนาดเล็กและกลาง (10 – 60 ตันกรอส) จำนวน 409 ลำ วงเงินประมาณ 690 ล้านบาท เมื่อได้ดำเนินการระยะแรกเสร็จสิ้น ที่เหลืออีก 271 ลำ ซึ่งเป็นกลุ่มเรือขนาดใหญ่จะได้ดำเนินการต่อไป
“หลังจากที่ประชุมให้ความเห็นชอบแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินกลางเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้ซื้อเรือคืนระยะแรกดำเนินการได้ภายใน 30 กันยายน 2561 การซื้อเรือคืนครั้งนี้นอกจากเป็นการลดจำนวนเรือประมงให้เหมาะสมกับปริมาณปลาเพื่อการประมงที่ยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแก้ไขปัญหา IUU อีกด้วย ซึ่งต้องขอขอบคุณชาวประมงทุกท่าน สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่ร่วมกันทำงานกับภาครัฐมาเป็นอย่างดีโดยตลอด” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
ด้าน นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า คณะผู้แทนประเทศไทยได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการประมง (COFI) ณ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กรุงโรม ประเทศอิตาลี ซึ่งมีประเทศสมาชิกและหน่วยงานด้านการประมงเข้าร่วมประชุมกว่า 700 คน จาก 194 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีวาระการประชุมที่สำคัญ ได้แก่ 1.การจัดการทรัพยากรทางทะเล 2.การแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ขาดการควบคุม 3.การบริหารจัดการการทำประมงขนาดเล็กและประมงพื้นบ้าน และ 4.การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมต่อการประมง
โดยประเทศไทยได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการประกาศเจตนารมณ์บนเวทีระดับโลก เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย โดยแจ้งต่อที่ประชุมถึงการประกาศให้การปฏิรูปภาคการประมงของไทยเป็นวาระแห่งชาติ และพร้อมที่จะเดินหน้าส่งเสริมให้มีการจัดการประมงอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ ยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน และภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย พร้อมปรับกลไกการปฏิบัติงานให้มีศักยภาพอย่างเต็มรูปแบบ เช่น เข้าไปมีส่วนร่วมและปฏิบัติตามข้อตกลงในระดับภูมิภาค มีการจัดทำแผนปฏิบัติงานแห่งชาติเพื่อสนับสนุนการการบริหารจัดการทรัพยากรประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการควบคุมกิจกรรมการทำประมงด้วยเครื่องมือประมงที่ทำลายล้าง (destructive fishing gears) ส่งผลให้การจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติลดลง และเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร พร้อมทั้งเร่งพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเพิ่มอาหารสำหรับบริโภค ตลอดจนลดการใช้ปลาป่นในการผลิตอาหารสัตว์น้ำ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ ประเทศไทยยังได้เสนอให้ FAO รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลผู้ประสานงานหลักของภาคีที่ไม่ได้เป็นสมาชิก เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการตามข้อตกลงของรัฐเจ้าของท่าทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก พร้อมทั้งพิจารณาจัดทำแนวทางในการตรวจสอบเรือประมง ในทะเล เพื่อให้สามารถเฝ้าระวังและควบคุมเรือประมงที่ทำประมงเกินขนาดได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะบริเวณทะเลหลวง และขอให้ FAO สนับสนุนส่งเสริมประเทศสมาชิกร่วมกันลดการสูญเสียอาหาร และหันมาใช้วัตถุดิบที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมประมงกันมากขึ้นด้วย
ขอบคุณ : MCOT